Saturday, August 30, 2014

หวาน เปรี้ยว เผ็ด เค็ม คิดสักนิดก่อนปรุง




         ทุกคนมีรสชาติอาหารที่ถูกปากเป็นของตัวเอง บางคนชอบรสหวาน บางคนชอบรสเค็ม บางคนชอบรสเผ็ด บางคนชอบรสเปรี้ยว หรือบางคนก็ไม่ชอบปรุงรส สั่งอะไรมาทาน รสชาติอย่างไหนก็ทานอย่างนั้นเลย ซึ่งรู้ไหมคะ..ว่ารสชาติอาหารต่าง ๆ นั้นมีข้อดี ข้อเสีย กับร่างกายเหมือนกัน

รสเค็ม

          หลายคนชื่นชอบรสชาติเค็ม ถึงแม้จะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ความเค็มที่มากเกินไปจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารไทยหลายชนิดมีส่วนผสมของเกลือในปริมาณสูง โดยความเค็มยังแอบซุกซ่อนอยู่ในอาหารสำเร็จรูปอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นขนมอบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผักดอง และซอสต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารตามธรรมชาติบางอย่างก็ยังมีโซเดียมสูง เช่น อาหารทะเลและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ หมายความว่า เวลาที่เราจะรับประทานอะไรก็ควรต้องระมัดระวังในการปรุงรสพอสมควร มิฉะนั้นอาจสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมสูงเกิน

          สำหรับโทษของการกินเค็มจัดคือ ทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง แต่ความอันตรายยังไม่หมดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะความเค็มยังอาจก่อให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ โรคหัวใจ อาการบวม หัวใจวาย ริดสีดวง ไมเกรน และภาวะกระดูกบาง ซึ่งถ้าเราทานเกลือให้น้อยลงจะส่งผลให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น


รสหวาน

          เมื่อพูดถึงความหวาน น้ำตาลก็คือสิ่งที่หลายคนนึกถึง ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานต่อร่างกายในทันทีที่กินเข้าไป ส่งผลให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าคุณเป็นผู้ที่หลงใหลในความหวานก็ควรระวังไว้สักนิด เพราะหวานมากไปก็ทำให้อ้วน เนื่องจากร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปจนก่อให้เกิดไขมันสะสม

          นอกจากนี้ อาหารรสหวานยังเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขาดความสมดุล ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากกว่าปกติเพื่อกำจัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยิ่งคนเป็นเบาหวานกินหวานมากเท่าไรก็จะยิ่งให้ตับอ่อนทำงานหนัก และเป็นอันตรายมากเท่านั้น


รสเปรี้ยว

          รสเปรี้ยวมีคุณสมบัติสำคัญในการกระตุ้นตับและถุงน้ำดี ให้ปล่อยน้ำย่อยช่วยในการดูดซึมอาหารของร่างกาย ฟอกเลือด เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับเสมหะ และแก้เลือดออกตามไรฟัน ซึ่งการรับรสเปรี้ยวจากธรรมชาติอย่าง มะนาว มะกรูด มะขาม มะม่วงดิบ หรือสับปะรด นับว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากนัก

          แต่ถ้าเป็นความเปรี้ยวที่มาจากสารสังเคราะห์อย่างน้ำส้มสายชู หากบริโภคมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยโรคที่มากับอาหารรสเปรี้ยวคือ ท้องเสีย ร้อนใน ระบบน้ำเหลืองในร่างกายมีปัญหา และกระดูกผุ


รสเผ็ด

          ทั้งความเผ็ดที่มาจากพริก หรือสมุนไพร เช่น กานพลู ยี่หร่า กระเทียม หัวหอม และพริก ซึ่งความเผ็ดนี่เองที่จะช่วยให้การทำงานของปอดและลำไส้ใหญ่เป็นไปตามปกติ แต่ถ้าบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคกรดในกระเพาะอาหารที่ทำให้นักกินเผ็ดมักมีอาการท้องขึ้นและ อึดอัด

          นอกจากนี้ รสชาติอันเผ็ดร้อนจนเกินไปยังสามารถก่อให้เกิดสิว เพราะความเผ็ดจะทำให้ต่อมไขมันทั่วร่างกายทำงานหนักกว่าปกติทำให้เกิดสิวได้ง่าย และที่สำคัญอาหารรสเผ็ดยังมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนัก ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเผ็ดจึงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว

 
          เพราะฉะนั้นอาหารที่รสชาติจัดจ้านจนเกินไป อาจจะถูกปากเราในปัจจุบัน แต่ก็จะส่งผลเสียให้เราในอนาคตได้นะคะ ทางที่ดีก่อนที่เราจะปรุงอาหารตามรสชาติที่ชื่นชอบนั้น ลองหยุดคิดสักนิด หรือชิมก่อนปรุงสักหน่อย ลองทานอาหารที่ไม่ต้องปรุงมากจนเกินไป พยายามลดการปรุงอาหาร งดการทานอาหารแปรรูปต่าง ๆ และที่สำคัญอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนบริโภคค่ะ

แหล่งที่มา Woman Plus, http://health.kapook.com/view95926.html

No comments:

Post a Comment