Friday, December 16, 2016

กิจกรรมง่าย ๆ กระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารแห่งความสุข




         กรมสุขภาพจิตชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมรณรงค์สร้างสุขกันทั่วหน้าภายใต้แนวคิด "ฮอร์โมนความสุข...สร้างได้ทุกวัย" เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ได้เรียนรู้ถึงวิธีสร้างสุขด้วยตัวเอง ด้วยการทำกิจกรรมง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า "สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่"

          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า "ความสุข" เป็นสิ่งที่คนทุกเพศทุกวัยต้องการ แต่อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยมีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า ความสุขนั้นมีความสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคนเรามีความสุขสมองซีกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ และการคำนวณ จะทำงานมากขึ้น ขณะที่เมื่อเรามีความรู้สึกในเชิงลบหรือมีความทุกข์ สมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการและศิลปะจะทำงานมากกว่า ดังนั้นคนที่สมองซีกซ้ายทำงานมากกว่าซีกขวา จึงมักจะเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และมีความคิดในเชิงบวก คนที่อยู่รอบข้างก็มักจะรู้สึกถึงความสุขไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากพวกที่สมองซีกขวาทำงานมากกว่า ที่จะพบว่า เป็นคนที่มีความคิดในแง่ร้ายความจำไม่ดี และมีความรู้สึกในเชิงลบมากกว่าทำให้คนที่อยู่รอบข้างรับรู้ถึงความทุกข์ไปด้วย

          นอกจากนี้ความสุขของคนเรายังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองด้วยเช่นกัน เช่น โดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ที่จะหลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ หรือได้รับการตอบสนองตามความสำเร็จ หรือได้รับการตอบสนองตามความต้องการ ซีโรโทนิน เป็นสารสื่อประสาทอีกชนิดหนึ่งที่หลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือรู้สึกมีความสุขสงบ และ เอ็นดอร์ฟิน หรือ สารแห่งความสุข เป็นฮอร์โมนที่หลั่งในขณะที่อารมณ์ดี และมักจะหลั่งออกมาหลังจากออกกำลังกาย อีกทั้งยังเป็นสารที่ช่วยลดความเจ็บปวดได้อีกด้วย ซึ่งสารทั้งสามชนิดนี้มักจะหลั่งออกมาพร้อม ๆ กัน ในขณะที่เรามีความสุข ส่วนสารเคมีในสมองบางตัวที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์หรือความเครียด ได้ คอร์ติโซน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งเมื่อเรามีความเครียด หรือมีความกดดัน ฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ทำให้ความสามารถในการคิดและการจำลดลง และทำภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงเช่นเดียวกัน

          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่าในการสร้างความสุขของทุก ๆ คนจึงไม่มีสูตรสำเร็จรูปแต่สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนความคิด การรับรู้และการตัดสินคุณค่าของตัวเราให้เป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตที่นำไปสู่ความสุขและความสมดุลได้ไม่ยาก ความสุขในชีวิตจึงไม่ใช่เกิดจากการไขว่คว้าหรือแสวงหาจากสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียวแต่ยังอยู่ที่ตัวเราว่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากหรือสุขน้อย ตราบใดที่ตัวเราสามารถให้ความรักแก่ตนเองและผู้อื่น ยอมรับตัวเราและผู้อื่นยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน สามารถชื่นชม ภาคภูมิใจ สิ่งที่เรามีและสิ่งที่ผู้อื่นมี มีความอ่อนโยนและเมตตาทั้งตัวเราและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ มีแง่ดีงามอยู่เสมอ รวมทั้งมีอารมณ์ขันกับเรื่องรอบตัวบ้าง เราก็จะเป็นสุขได้เช่นกัน

          สำหรับวิธีที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขนั้นอธิบดีกรมสุขภาพจิตได้ให้แนะข้อปฏิบัติไว้ 5 ข้อ ดังนี้
 
          1. ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ อย่างน้อย 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขทั้ง 3 ตัว ได้แก่ ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความสุข ความมั่นคงทางอารมณ์ แลtช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า เอ็นดอร์ฟิน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี ลดความกังวลและความเจ็บปวด และโดปามีน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง
 
         2. รับประทานอาหาร จำพวกน้ำตาล ไขมัน และโคเรสเตอรอลในระดับที่พอเหมาะ ไม่น้อยเกินไป การรับประทานอาหารประเภทน้ำตาลหรือไขมันในระดับต่ำเกินไปจะทำให้ระดับโดปามีน ในร่างกายต่ำไปด้วย การรับประทานกล้วย ธัญพืช สามารถช่วยเพิ่มระดับของโดปามีนได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของ ทริปโตเฟน ในปริมาณมาก เช่น เมล็ดทานตะวัน เม็ดฟักทอง ปลา นม กล้วย ถั่วลิสง จะช่วยเพิ่มการหลั่งของ ซีโรโทนิน
  
        3. ทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด อย่างน้อย 20 นาทีในตอนเช้า จะส่งผลให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนิน ที่จะเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ช่วยในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในตอนกลางคืน
  
        4. นวดตัว เป็นพลังจากการสัมผัส ซึ่งมีรายงานวิจัยได้ Touch Research Institute ของ Miami Scool of Medicine พบว่าการนวดตัวช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึง 28% และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึง 31 %

        5. ลดเครียดและจัดการอารมณ์ที่ทำให้เครียด เช่น ความกังวล ความโกรธ ความกลัว เพื่อช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนิน อาทิ การฝึกหายใจคลายเครียด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต
ลงประกาศ ณ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
http://icare.kapook.com/content_detail.php?t_id=0&id=3599
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/roses-garden/