Thursday, August 28, 2014

5 อาหารดี ๆ ที่กินเยอะไป ก็ไม่ดีได้เหมือนกัน



        จากประโยคที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า กินผักเยอะ ๆ จะได้มีสุขภาพดี กินผลไม้เยอะ ๆ แล้วจะได้ผิวสวย ๆ นั้น บางทีก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปแล้ว เพราะบอกเลยว่าไม่ว่าอาหาร ผัก ผลไม้นั้นจะมีประโยชน์มากมายสักแค่ไหน แต่ถ้ากินมากไป ก็มีผลเสียด้วยกันทั้งนั้น

1. มะละกอ

          มะละกอ ผลไม้ดี มีประโยชน์มากมาย ไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยและยังดีต่อระบบขับถ่าย จึงมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าเมื่อระบบขับถ่ายดีขึ้นนั้น โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารนั้นก็พลอยจะบรรเทาลงไปด้วย

          การจะกินมะละกอเป็นผลไม้ลดน้ำหนักนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่ก็ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้ากินมากเกินไป มะละกออาจทำให้คุณมีผิวที่เหลืองขึ้นได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะ

          และนอกจากนี้มะละกอยังมีวิตามินเอสูง ถ้ากินมากไป มีความเสี่ยงต่อกระดูกและข้อต่อ อาจมีอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก


2. ส้ม

          ใคร ๆ ก็รู้ว่ากินส้มเยอะ ๆ แล้วจะช่วยให้ผิวดี ระบบขับถ่ายดี เพราะส้มจัดเป็นผลไม้ประเภทหนึ่งที่มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งวิตามินซีมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย, ป้องกันอนุมูลอิสระ, ต่อต้านโรคหัวใจ, ช่วยให้สุขภาพเหงือกแข็งแรง ทั้งยังโด่งดังเรื่องบรรเทาอาการหวัด

          แต่การได้รับปริมาณวิตามินซีมากเกินไป มากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวันต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดนิ่วในไตได้ รวมถึงหากรับประทานวิตามินซีมากเกิน 1,000 มิลลิกรัม ยังอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และหากทานตอนท้องว่างก็อาจเกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร เนื่องจากความเป็นกรดของวิตามินซี ทั้งยังอาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือถึงขั้น คลื่นไส้ อาเจียนได้ด้วย

 
3. ทูน่า

          ทูน่า ปลาทะเลน้ำลึก หนึ่งในอาหารทะเลมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มี DHA (DOCOSAHEXAENOIC ACID) ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับสมอง ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และเสริมสร้างความจำ

          แต่แม้ปลาทูน่าจะมีคุณประโยชน์สูง แต่สำหรับสตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และหญิงที่เพิ่งคลอด ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3 ก้อนสำหรับไลท์ทูน่า หรือ 1 กระป๋องสำหรับทูน่าขาว เพื่อป้องกันอันตรายจากสารปรอท เพราะทูน่ามีสารปรอทอยู่ในเนื้อปลาเอง ถ้ากินมาก อาจทำให้มีปรอทสะสมมากเกินไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท เช่น การตายของเนื้อสมองบางส่วน

 
4. กะหล่ำปลี

          กะหล่ำปลี ผักยอดฮิตของอาหารสุดแซ่บอย่างส้มตำที่ดับเผ็ดได้ดี ซึ่งอันที่จริงกะหล่ำปลีนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่ทว่า การกินกะหล่ำปลีดิบมาก ๆ อาจเป็นปัญหากับสุขภาพในระยะยาว

          พืชตระกูลกะหล่ำทุกตัว จะมีคุณสมบัติในการป้องกันและยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร เต้านม มดลูก รังไข่ และยังมีฤทธิ์ในการขับสารพิษออกจากร่างกายได้ แต่ถ้าคุณรับประทานกะหล่ำปลีเป็นประจำ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของตับให้ทำงานดีขึ้น

          แต่ในขณะเดียวกัน ในกะหล่ำปลี ก็มีสาร Goitrogen อยู่มาก ซึ่งสาร Goitrogen นี้จะไปกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับไอโอดีนไปสร้างเป็น Thyroscine ส่งผลจะทำให้เกิดโรคคอหอยพอกได้

          หากชอบกินกะหล่ำปลีประจำ ควรกินกะหล่ำปลีสุกจะดีกว่ากินกะหล่ำปลีดิบ เพราะสาร Goitrogen นี้จะถูกทำลายได้โดยการทำให้สุก ดังนั้นควรทำให้สุก และกินแต่พอดี


5. น้ำ

          แม้แต่น้ำ ก็ไม่พ้นจากข้อครหานี้ไปได้จริงอยู่ที่น้ำเป็นสิ่งที่ร่างกายคนเราขาดไม่ได้ แต่การดื่มน้ำมากเกินวันละ 6-7 ลิตร เพราะเสี่ยงเกิดอาการไฮโปแนทรีเมีย สมองบวมจนเสียชีวิตได้

          การ ดื่มน้ำมากไปจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกิน หรือน้ำเป็นพิษ และน้ำจะมีผลให้ธาตุโซเดียมในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะรักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ไม่ได้ ทำให้เซลล์บวมและทำให้ช็อก อาจกระตุกหรือชัก สมองบวม ปอดบวม หมดสติและเสียชีวิตได้

          เพราะฉะนั้นดื่มในปริมาณที่เหมาะสมตามปกติที่วันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร ดื่มอย่างพอเหมาะพอควร ก็เพียงพอสำหรับร่างกายแล้ว

 
          ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าตั้งอยู่ในพื้นฐานของความพอดีแล้ว ยังไงก็เป็นสิ่งดีต่อตนเองอยู่เสมอ


แหล่งที่มา  emagazineinfo, http://health.kapook.com/view96887.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment