Monday, March 28, 2016

ลูกนอนยาก มีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้





          ลูกนอนยากทำยังไงดีคะ เพราะตอนกลางวันลูกก็นอนหลับดี แต่พอตกกลางคืน ลูกกลับลวดลายไม่ยอมนอน กลายเป็นเด็กนอนยาก ร้องไห้งอแง แล้วแม่จะทำยังไงดีเนี่ย

          ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องรุนแรงอะไรที่ลูกจะมีปัญหาทุกครั้งที่พาเข้านอน แต่ถ้าดูกันลึก ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ หาสาเหตุและทางแก้ไข เพราะแม้จะเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่ถ้าสะสมไปก็จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้ โดยเฉพาะกับลูกวัยนี้แล้ว การพักผ่อนไม่เต็มที่ มีผลกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกด้วย

 

ใช้ไม้อ่อนปราบคนนอนยาก...ดีกว่า

          ถ้าลูกยังห่วงเล่น ควรบอกลูกล่วงหน้าสักหน่อยเพื่อเป็นการเตือนว่า ใกล้จะถึงเวลานอนของหนูแล้วนะ แม่ให้เวลาอีกแป๊บเดียว หนูเก็บของเล่นได้แล้วนะคะ การบอกล่วงหน้าเพื่อเป็นการให้ลูกได้เตรียมใจ และไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกพรากไปจากของที่แกเล่นอยู่

          ถ้าลูกเป็นเด็กวิตกกังวลหรือดูว่าจิตใจว้าวุ่น หวาดระแวง และหาทางออกด้วยการดูดนิ้ว ดูดขวดนม หรือกอดตุ๊กตาไว้แน่น เพื่อช่วยให้ตัวเองรู้สึกเพลิน อย่างนี้ต้องอนุโลมยอมให้แกทำแบบนี้ ไม่ต้องกลัวลูกจะติดหรอกค่ะ เดี๋ยวถึงวัยที่เหมาะสมก็จะเลิกได้เอง

          จัดสรรเวลานอนกลางวันของลูกให้เหมาะสม เช่น ถ้าการนอนตอนบ่ายค่อนไปตอนเย็นก็ให้เลื่อนเวลามานอนตอนสาย ๆ แทน และต้องดูด้วยว่า ระยะเวลาในการนอนกลางวันของลูกมากเกินไปรึเปล่า เพราะโดยปกติเด็กวัยนี้ต้องการนอนหลับในตอนกลางวันประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ต้องการการนอนตอนกลางคืนถึง 11-12 ชั่วโมง

          พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้ดูสบาย ๆ สงบเงียบ เช่น ถ้าใกล้ถึงเวลานอนของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะปิดทีวีแล้วพาลูกเข้านอน สังเกตดูที่นอนของลูกด้วยว่า ปกติดีไหม อากาศเป็นยังไง แสงสว่างมากหรือน้อยไป มีมดแมลงอยู่หรือเปล่า

          ให้ลูกเข้าห้องน้ำตอนกลางวันสม่ำเสมอ เพื่อกลางคืนลูกจะได้ไม่ตื่นเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ

          ถ้าลูกกลัวต้องปลอบโยนและช่วยเหลือลูก เช่น ถ้ากลัวความมืดก็เปิดไฟสลัวๆ ทิ้งไว้ และควรพูดให้ความมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ ถ้าหนูกลัวก็เรียกได้พ่อแม่ได้ยินเสียงจะรีบเข้ามาหาทันที แต่ถ้าลูกยังกลัวอยู่ คุณก็คงต้องนอนกับแกไปสักระยะหนึ่ง 3-4 วันผ่านไปเมื่อแกเห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัวแกก็จะกล้านอนคนเดียวในที่สุด

          ก่อนเข้านอนจัดการธุระของลูกให้เรียบร้อย พาแกไปเข้าห้องน้ำ แปรงฟันหรือฉี่เสียให้เสร็จ และต้องแน่ใจว่าแกไม่อิ่ม หิว หนาวหรือร้อนเกินไป

          พยายามทำให้แกรู้สึกว่ารัก เช่น อุ้มแกเดินเล่นเพลิน ๆ ก่อนพาเข้านอน หรือกอด หอมแก้มแกบ้าง หรือเป็นคนพาแกเข้านอนเอง ให้แกรู้สึกว่าคุณไม่ได้ทอดทิ้งแกให้อยู่แต่กับพี่เลี้ยง
   
          ไม่ควรจู้จี้ บังคับลูกมากเกินไป ยิ่งช่วงแรก ๆ ของการฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลานั้น คุณยิ่งต้องยืดหยุ่น อย่าบังคับแต่อาจใช้เทคนิคอื่น ๆ แทน เช่น พาแกไปอยู่ในมุมเงียบ ๆ (หรือบนเตียงแกก็ได้) ห่างไกลจากสิ่งเร้าทั้งหลาย โอบอุ้มแกไว้ เล่านิทาน หรือเปิดเพลงคลอเบา ๆ ให้แกรู้สึกว่ากล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ลูกก็จะไม่ต่อต้าน เพราะไม่รู้สึกว่าวิธีปฏิบัตินี้เป็นการบังคับแต่กลับรู้สึกว่าพ่อแม่รัก

          สำคัญมากที่สุดคือ ถ้าลูกนอนเป็นเวลาได้แล้วหรือนอนหลับได้ตลอดคืน ไม่มีปัญหาเหมือนเมื่อก่อน หลังจากใช้กลยุทธ์ข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยลูกด้วยท่าทีที่จริงใจและให้กำลังใจแกเสมอ



โดย : นงพุธ
แหล่งที่มา  modernmom, http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/449585975281726980/

Wednesday, March 23, 2016

กระตุ้น 5 ประสาทสัมผัส ช่วยพัฒนาสมองลูกรัก




พัฒนาการเด็กเล็กส่งเสริมได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพราะจะช่วยให้สมองของลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี และเรียนรู้จดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลีบดี ๆ จากนิตยสาร Mother & Care มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่กันด้วยค่ะ พร้อมแล้วเราไปเปิด โลกกว้างให้ลูกน้อยกันเลยค่ะ ^_^

         เบื้องหลังความสามารถที่ทำให้ลูกรับรู้ได้ตั้งแต่วัยเบบี๋ คือ ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้เรียนรู้ โลกกว้างที่สำคัญ โดยเมื่อมีสิ่งกระตุ้น ประสาทสัมผัสจะส่งสัญญาณสู่สมองที่ทำงานเชื่อมโยงกันทั้งภาพสัมผัสออกมา เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ แล้วถ้าอยากให้ลูกเรียนรู้ได้ดีมาพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วย ...

1. พัฒนาการรับรส

         เตรียมอาหารหลายชนิดที่มีผิวต่างกัน เช่น นุ่ม กรอบ เหนียว มีรสต่างกัน เช่น เปรี้ยว หวานน้อย ๆ เค็มน้อย ๆ ขมน้อย ๆ ฝาดนิด ๆ ให้ลูกกิน แล้วบอกว่าสิ่งที่ลูกกินคืออะไรมีรสอะไร เช่น "นี่มะม่วงนะจ๊ะ เปรี๊ยว เปรี้ยว" พร้อมทำตาหยี ๆ ประกอบคำว่าเปรี้ยว แล้วหลอกล่อให้ลูกทำตาม

2. พัฒนาการได้ยิน

         ชี้ชวนให้ลูกสนใจเสียงรอบตัว เช่น เสียงพูดคุย สุนัขเห่า แมวร้อง นาฬิกาปลุกดัง เสียงเคาะประตู เสียงรถ เครื่องบิน น้ำไหล ฝนตก นกร้อง เสียงดนตรี โดยชี้ให้ลูกเห็นที่มาของเสียงด้วยว่ามาจากสิ่งใด เพื่อให้สมองของลูกรับรู้ เชื่อมโยง และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีต่อไป

3. พัฒนาการมองเห็น

         ชวนให้ลูกดูรูปร่าง สีสัน ขนาด ลักษณะสิ่งต่าง ๆ โดยพาลูกเดินสำรวจห้องและเครื่องใช้ในบ้าน สนามหญ้า สวนสาธารณะ พาออกเที่ยวนอกบ้าน ขณะเดินทางชี้ให้ดูสัญญาณไฟ ป้าย รถ หรืออื่น ๆ โดยบอกชื่อสิ่งนั้น ถ้าลูกโตให้ถามลูกว่าสิ่งนั้นมีสีอะไร มีลักษณะรูปทรงอย่างไร เป็นต้น

4. พัฒนาการรับกลิ่น

         อุ้มลูกออกมารับกลิ่นต่าง ๆ ทั้งในบ้านและในสวน เช่น กลิ่นเครื่องเทศ กาแฟ ดอกมะลิ ดอกพุด หรือหาผักผลไม้ที่มีกลิ่นต่าง ๆ มาฝึกลูก โดยบอกชื่อสิ่งที่ลูกสูดดม และให้ลูกเห็นในสิ่งที่ลูกดมด้วย ถ้าลูกโตขึ้นให้เล่นเกมหลับตาดมกลิ่น แล้วถามลูกว่าเป็นกลิ่นอะไร เป็นต้น

5. พัฒนาการเคลื่อนไหวสัมผัส

         ชวนลูกใช้มือสัมผัสสิ่งของ เล่นปั้นดิน เล่นทราย วิ่งบนหญ้าเย็น ๆ ทรายนุ่ม ๆ พื้นขรุขระที่ดูแล้วว่าปลอดภัย ให้ลูกเล่นน้ำ จับต้นไม้ กลีบดอกไม้ ได้รับรู้ความหนา บางนิ่ม นุ่ม หัก เบา ร้อน เย็น หยาบ ลื่น ลูกจะได้เรียนรู้ว่าผิวสัมผัสของสิ่งนั้นต่างกันอย่างไร ซึ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาระบบประสาทสัมผัสให้ลูกเรียนรู้โลกกว้างได้อย่างรวด เร็วค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
Vol.12 No.133 มกราคม 2559
http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/dreamaparsons/pretty-baby/

Monday, March 21, 2016

อย่านิ่งนอนใจ เลือดกำเดาไหลในเด็ก




เลือดกำเดาไหลในเด็ก สาเหตุเกิดจากอะไร หรืออาจจะเป็นสัญญาณเตือนบอกโรคของลูกก็ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจไปนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เรื่องเลือดกำเดาไหล พร้อมวิธีการดูแลเบื้องต้นจากนิตยสาร Mother & Care มาฝากกันด้วยค่ะ ส่วนเลือดกำเดาไหลจะเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง เราไปหาคำตอบกันเลย

         เลือดกำเดาไหล คือการมีเลือดออกมาจากรูจมูก โพรงจมูก หรือหลังโพรงจมูก มักจะพบในเด็กช่วงอายุ 2-10 ขวบ เป็นอาการที่พบได้ในเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ มาดูวิธีการรับมือกับเรื่องนี้สำหรับลูกน้อยกันค่ะ
 

สาเหตุ เลือดกำเดาไหลนั้นมีได้หลายสาเหตุได้แก่

         เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เนื่องจากอากาศแห้ง ร้อนจัดหรือหนาวจัด

         เกิดการกระทบกระเทือน เช่น ถูกเพื่อนวิ่งชน มีผนังกั้นจมูกผิดปกติ ผนังกั้นจมูกเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนหรือโรคคนแพ้ อากาศ

         ร่างกายขาดวิตามินซี

         ความผิดปกติของระบบร่างกาย เช่น ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และโรคเลือดต่าง ๆ

         วิธีรับมือ โดยทั่วไป เมื่อเด็กมีเลือดกำเดาไหล จะหยุดเองภายในไม่เกิน 5 นาที และสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย

         ให้เด็กนั่งตัวตรงหายใจทางปาก และใช้กระดาษชำระม้วนเป็นแท่งเล็ก ๆ อุดในรูจมูก

         หรือใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่น อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบนดั้งจมูกด้วยก็ได้

         หากเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจ และดูแลให้เหมาะสม

         ไม่ควรให้ลูกเอนหลังแหงนหน้า เพราะอาจทำให้ลูกขย้อน สำลัก อาเจียน

         นอกจากนี้ หากเลือดไหลไม่หยุด อาจต้องทำการห้ามเลือดโดยการจี้ด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า เพื่อหยุดเลือดกำเดาไหลทางด้านหน้า หรือใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก หรือผูกหลอดเลือดแดงเพื่อให้เลือดหยุด แล้วหาสาเหตุ เพื่อรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ
 

อย่านิ่งนอนใจ


         เลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ เลือดออกเป็นจำนวนมาก

         มีรอยช้ำจ้ำเขียว มีเลือดออกมากจากบาดแผลเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ

         มีอาการเวียนศีรษะหรือหน้าซีดร่วม

         สิ่งที่บอกถือเป็นข้อสังเกตง่าย ๆ ที่คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจเช็กให้ละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องเลือดกำเดาไหลได้ค่ะ
 

การป้องกัน


         ไม่ควรให้เด็กไปวิ่งเล่นกลางแจ้งนาน ๆ โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อนจัด

         ห้ามแคะจมูก ไม่ควรให้จมูกได้รับการกระทบกระเทือน

         ให้ลูกได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่

         สร้างภูมิต้านทาน เสริมวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ เช่น ส้ม ฝรั่ง

         การตัดเล็บลูกให้สั้น และสอนไม่ให้ลูกแคะหรือแกะเกาจมูก ก็เป็นการป้องกันทางหนึ่ง
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
Vol.12 No.133 มกราคม 2559
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/551479916846052320/

Thursday, March 17, 2016

6 คำถามที่ควรถามลูกก่อนนอน เพื่อให้รู้จักลูกมากขึ้น




6 คำถามที่ควรถามลูก ก่อนนอน ก่อนจะเล่านิทานให้เขาเคลิ้มหลับไป ลองให้เขาใช้ความคิดตอบคำถามเหล่านี้ แล้วคุณจะรู้จักลูกตัวเองมากขึ้น

         เวลาที่พ่อแม่และลูกจะมีเวลาได้อยู่กันใกล้ชิดแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็คือตอนก่อนเข้านอนนี่แหละค่ะ ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อนพาลูกเข้านอน ก็ไม่ใช่เพียงแต่กล่อมเขาหรือเล่านิทานให้ฟังเท่านั้น แต่ควรจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเขาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ รวมถึงถามไถ่ 6 คำถามที่กระปุกดอทคอมนำมาฝากในวันนี้ด้วย บอกเลยว่าแต่ละคำถามจะช่วยให้เขาฝึกคิด และช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักลูกตัวเองมากขึ้นด้วยนะ

1.อะไรที่ลูกทำแล้วชอบที่สุดในวันนี้ ?

         บอกเลยค่ะว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ดีจริง ๆ เพราะช่วงที่เขาทำกิจกรรมที่โรงเรียน คุณไม่มีทางรู้แน่ว่าเขาทำอะไรบ้าง ซึ่งคำถามนี้จะทำให้คุณรู้ชีวิตประจำวันของลูก แถมยังช่วยให้รู้อีกว่าลูกชอบทำอะไรเป็นพิเศษ แน่นอนว่าเขาอยากเล่าให้พ่อแม่ฟังอยู่แล้วว่าเขาชอบช่วงเวลาไหนในวันนั้น ๆ บ้าง

2.ลูกมีฝันอยากเป็นอะไร ?

         คำถามสนุก ๆ ก่อนนอนที่จะทำให้เขาได้ใช้ความคิดและจินตนาการเต็มที่ และคุณจะได้รู้ด้วยว่าลูกของคุณสนใจในเรื่องไหนบ้าง ซึ่งบางทีเขาอาจจะตอบมาแบบที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราคาดไม่ถึงเลยก็ได้

3.วันนี้มีเรื่องไหนที่ทำให้ไม่พอใจบ้าง ?

         เชื่อเถอะว่าต้องมีสักวันที่ลูกของคุณต้องรู้สึกไม่โอเคกับอะไรบางอย่าง อาจจะโดนเพื่อนที่โรงเรียนล้อเลียน หรือโดนรังแก ซึ่งเขาก็คงไม่กล้าพูดออกมาแน่ถ้าไม่ถูกถามก่อน และคำถามนี้แหละที่จะทำให้เขาได้พูดได้ระบายออกมาว่าเขาต้องเจออะไรที่ไม่ ถูกใจมาบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้และจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้ได้ด้วย

4.ถ้าทำสิ่งหนึ่งให้คนอื่นได้ 1 อย่างในวันพรุ่งนี้ ลูกจะทำอะไร ?

         รู้หรือไม่คะว่า เด็ก ๆ จะรู้สึกตื่นเต้นเสมอเมื่อทำให้คนรอบข้างมีความสุข หรือเวลาที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ถ้าอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองถามเขาเลยค่ะว่า ถ้าเลือกทำดีต่อคนรอบข้างได้ 1 สิ่งในวันพรุ่งนี้ เขาคิดจะทำอะไร จะได้ฝึกให้เขาครุ่นคิด แถมยังเป็นวิธีสอนเขาให้คิดดีทำดีด้วยนะ

5.ลูกคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ดีแล้วหรือยัง ? มีสิ่งไหนที่พ่อกับแม่ทำให้พรุ่งนี้เป็นวันที่ดีกว่าได้ไหม ?

         คำถามนี้จะทำให้ลูกรักรู้สึกว่าคุณแคร์และเห็นว่าเขาสำคัญ และถ้าวันนี้ลูกไม่โอเคกับบางเรื่อง หรือมีเรื่องที่อยากบอกอยู่ในใจ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้และช่วยพูดอธิบายเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ด้วยยังไงล่ะคะ

6.วันนี้ลูกเล่นกับใครแล้วสนุกมากที่สุด ?

         คำถามนี้จะช่วยให้รู้ว่าการเข้าสังคมของลุกคุณเป็นอย่างไร ลูกของคุณชอบเล่นกับเพื่อนคนไหนเป็นพิเศษ หรือถ้าลูกของคุณเป็นเด็กที่ชอบเล่นคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร จะได้รู้ไว้ว่าความสัมพันธ์เรื่องเพื่อนของลูกเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าโดนเพื่อนที่โรงเรียนรังแก คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้รู้ด้วย

         เห็นไหมล่ะคะว่า นอกจากการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนแล้ว ก็ยังสามารถถาม 6 คำถามนี้ เพื่อให้ได้รู้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขามากขึ้น และยังช่วยฝึกให้คุณลูกได้คิดด้วยนะคะ ^_^


ข้อมูลจาก : lifeasmama.com และ smile.sheknows.com
http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://fr.pinterest.com/japanesemaple/cute-kids/

Friday, March 11, 2016

สำรวจดวงตาลูกวัยเรียน ก่อนสายเกินไป




  ดวงตาของ ลูกรักวัยเรียนในช่วงอายุ 3-5 ปี ต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตลูกน้อยเป็นพิเศษค่ะ เพราะหากลูกมีสายตาที่ผิดปกติต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ เรื่องดวงตาของลูกน้อยจากนิตยสาร Mother & Care มาฝากคุณพ่อคุณแม่หมั่นสำรวจดวงตาของลูกตั้งแต่ยังเล็ก พร้อมเคล็ดลับในการพาลูกไปพบคุณหมอครั้งแรก มาฝากกันค่ะ

          เพราะ ดวงตาเป็นอวัยวะส่วนสำคัญในการเรียนรู้ เด็กหลายคนต้องสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และการมองเห็น ด้วยความชะล่าใจหรือรู้ไม่ทันปัญหาของพ่อแม่ ดังนั้น การรู้ก่อนแก้ไขก่อน ไม่รอให้สายเกินไป ทำได้ด้วยการหันมาใส่ใจสังเกตดวงตาของลูกตัวน้อยค่ะ
 

ความผิดปกติที่พบได้

 
สายตาสั้น

          เป็นภาวะที่ภาพตกไม่ถึงจอประสาทตา ทำให้การมองไกลไม่ชัด

          พบว่าเด็กที่สายตาสั้นมักดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ ต้องก้มมากเวลามองใกล้ หยีตา กะพริบตา อาจปวดศีรษะ และเวลามองมักจะเอียงคอหันหน้าไปด้านข้าง พันธุกรรม กล่าวคือถ้าทั้งพ่อและแม่สายตาสั้น โอกาสที่ลูกสายตาสั้นก็มีมากขึ้น และเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สายตาใกล้ ๆ เป็นเวลานาน

          การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เพราะเมื่อสายตาสั้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่สายตาสั้นจะหยุดเอง เมื่ออายุประมาณกลางวัยรุ่น (อายุ 14 -18 ปี) คุณสามารถป้องกันได้โดย

          หลีกเลี่ยงการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนอ่านหนังสือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมในโทรศัพท์ รวมถึงการอ่านหนังสือในรถยนต์หรือห้องน้ำที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ

          จัด สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือบนโต๊ะที่มีแสงไฟส่องสว่างจากทางซ้ายมือ หรือควรใส่แว่นที่รู้สึกสบายตา การใช้แว่นตา 2 ชั้น เพื่อลดการเพ่ง หรือการใช้แว่นกำลังขยายน้อย ๆ ก็ทำให้สายตาสั้น ๆ เพิ่มขึ้นไม่แตกต่างกัน และการใช้คอนแทคเลนส์เพื่อกดกระจกตาให้แบนลง เมื่อเลิกใส่แล้วสายตาก็กลับมาสั้นเหมือนเดิม
 

ตาเหล่

          คือสภาวะที่ตาทั้ง 2 ข้าง ไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งชนิดเหล่เข้า-เหล่ออก เหล่ขึ้นบนหรือลงล่าง ความผิดปกตินี้อาจเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือในช่วงอายุใดก็ได้ ลักษณะตาเหล่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ ตาเหล่เข้า และตาเหล่ออก

          1. ตาเหล่เข้า เป็นตาเหล่ที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

          เกิดจากสายตายาวผิดปกติ มักพบในเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี ชนิดนี้รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ใส่แว่นที่มีกำลังขยายเหมาะสม เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา ซึ่งเด็กจะมีอาการตาเหล่เข้าตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 เดือน รักษาได้โดยการผ่าตัดตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อทำให้ตาเข้าสู่ภาวะปกติและรักษาการมองเห็นภาพ 3 มิติ ไม่ให้เสียไปอย่างถาวร

          2. ตาเหล่ออก พบได้บ่อยขณะที่เด็กเหม่อ เหนื่อย หรือไม่สบาย สังเกตได้ว่า เมื่อมีแสงสว่างมาก ๆ เด็กจะหรี่ตาข้าหนึ่ง รักษาได้โดยการใช้แว่นตา ฝึกกล้ามเนื้อตา ใช้แว่นปริซึม แต่ถ้าไม่ได้ผลต้องใช้วิธีผ่าตัดแก้ไข วิธีการสังเกต ไม่ควรดูที่ตาขาวหรือตาดำ ให้คุณใช้ไฟฉายส่องแล้วดูแสงสะท้อนภายในดวงตา ว่าอยู่ตรงกลางหรือไม่ ถ้าแสงสะท้อนในดวงตาไม่อยู่ตรงกลางแสดงว่าเป็นตาเหล่จริง ควรรีบพาลูกพบจักษุแพทย์
 

ตาขี้เกียจ

          คือสายตาข้างที่ขี้เกียจจะมองเห็นได้ไม่ดีเท่ากับสายตาปกติอีกข้างหนึ่ง

          ทั้งที่ไม่มีปัญหาโรคเกี่ยวกับตาอื่น ๆ และเมื่อใส่แว่นสายตาแล้ว ก็ยังมองเห็นไม่ชัด จึงเป็นภาวะที่ตามองเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากเด็กใช้ตาข้างนั้นน้อยเกินไป ที่จริงดวงตาก็เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ หากไม่ได้ใช้งานเลย ประสิทธิภาพก็จะลดลง สาเหตุนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยที่พบบ่อย ๆ คือ เด็กที่ตาเหล่หรือมีสายตาแต่ละข้างไม่เท่ากันแต่มองเห็นได้ปกติก็เลือกที่จะ ใช้ตาข้างที่ดีเพียงข้างเดียว ทำให้ตาอีกข้างที่ไม่ได้ใช้งานจนเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น และกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคตาขี้เกียจ ก็อาจจะสายเกินแก้

          ดังนั้นคุณควรใส่ใจสังเกตดวงตาของลูกว่าเป็นอย่างไร และการพาลูกไปตรวจดวงตาอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการรักษานั้น ทำได้โดยการให้เด็กใช้ตาข้างที่มีปัญหามากขึ้น (คุณหมออาจใช้วิธีปิดตาข้างที่เห็นชัดหรือใช้ยาหยอดตาเพื่อให้สายตามัวลง) การทำเช่นนี้จะช่วยให้สายตาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปิดตาเด็กนั้น ควรปิดตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะหากทำตอนที่เด็กมีอายุมากขึ้น อาจมีความยุ่งยากและเห็นผลได้ช้า


ควรพบจักษุแพทย์เมื่อใด

          พบอาการผิดปกติ หากสังเกตเห็นว่า ดวงตาของลูกมีอาการผิดปกติ เช่น หนังตาตก ตาเหล่ น้ำตาไหล ตาแดง และอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพาลูกมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจเช็กสาเหตุ หรือรับการรักษา เพราะความผิดปกติบางอย่าง หากปล่อยเวลาทิ้ง โดยไม่ได้รับการรักษา อาจมีผลกับการสูญเสียการมองเห็นของเด็ก

          ตรวจเป็นปกติ กรณีที่ดวงตาลูกปกติไม่มีอาการให้สังเกตเห็น อาจไม่จำเป็นต้องพาไปพบจักษุแพทย์ ทว่า การตรวจดวงตาเป็นระยะ ๆ ตามช่วงอายุก็มีส่วนดีอยู่นะคะ เพราะช่วยให้คุณรู้ปัญหาสุขภาพดวงตาลูกได้เร็ว แก้ไขได้ทันท่วงที่ทีมีปัญหา เช่น
 

ช่วงเบบี๋ อายุ 6 เดือน :


          ตรวจดูว่าเด็กใช้สายตาเท่ากันทั้ง 2 ข้าง หรือไม่ การกลอกตาผิดปกติ มีตาเหล่ และมีสายตาสั้นหรือยาวมากกว่าปกติหรือไม่

เด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง-3 ขวบ :

          สามารถวัดสายตาเด็กออกเป็นค่ามาตรฐานได้เป็นครั้งแรก หากมีสายตาผิดปกติ คุณหมอจะรักษาได้อย่างทันท่วงที

เด็กอายุได้ 6-7 ปี :

          วัยที่เด็กเริ่มเข้าเรียนจะต้องใช้สายตาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงควรพามาวัดสายตา ว่าจำเป็นต้องใช้แว่นหรือไม่

          ครั้งต่อ ๆ ไป อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง : เพื่อตรวจเช็ค สายตาและสุขภาพตาทั่วไป
 

พาลูกไปตรวจดวงตา

          เตรียม ตัวให้พร้อม มีประโยชน์จากการตรวจและการรักษาค่ะ และสิ่งที่ต้องเตรียม เช่น ประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วยของลูก ถ้าใช้แว่นตาหรือยาหยอดตาให้นำติดตัวมาด้วย ถ้าเด็กไม่สบาย เช่น เป็นหวัด น้ำมูกไหล ควรรอให้หายก่อน เพราะทำให้เด็กขาดสมาธิ และมีผลต่อความร่วมมือน้อยลง นอกจากนี้ เมื่อตรวจเสร็จแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถสอบถามคุณหมอได้โดยละเอียด

          ตรวจ สายตาให้สนุก บางครั้งการพาลูกไปพบคุณหมอ อาจจะต้องจูนกันเล็กน้อย เพื่อให้ลูกของคุณรู้สึกดีกับการมาพบคุณหมอตั้งแต่ครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไป เช่น

         ไม่ควรดุ ขู่ หรือลงโทษเด็กในห้องตรวจ

         เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดกับหมอโดยตรง

         ขณะ วัดการมองเห็น เด็กอาจอ่านผิด คุณก็ไม่ควรดุหรือทักเด็ก หรือหัวเราะเพราะอาจทำให้เด็กไม่กล้าตอบคำถาม แต่เปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจ และชมเชย
 

          ทุกเรื่องของลูกหากขาดตกบกพร่องจุดไหนไป ก็รีบสำรวจหาทางป้องกัน และเมื่อรู้ทันปัญหาสายตาแล้วก็ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอด้วยค่ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
Vol.11 No.132 ธันวาคม 2558
http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ