Monday, July 15, 2019

อุบัติเหตุที่มักพบในเด็ก




อุบัติเหตุที่มักพบในเด็ก


หายใจอึดอัด
เด็กในวัยแรกเกิด – 4 เดือน ยังต้องนอนที่นอนแข็งและเนื้อแน่น ไม่จำเป็นต้องหนุนหมอน เพราะอาจจะอุดจมูกและปาก ทำให้เด็กหายใจไม่ออก

สำลักน้ำนม
ในเด็กเล็ก การให้นมหรือน้ำแก่เด็ก ควรจะต้องอุ้มไว้ทุกครั้ง

ตกจากที่สูง
โดยเฉพาะการเลี้ยงเด็กไว้บนเตียง เป็นการไม่เหมาะสมเพราะเด็กอาจจะพลัดตกลงมาได้ง่าย และไม่ควรปล่อยเด็กไว้เพียงลำพังในขณะที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้

ถูกของมีคมบาด
ถ้ามีของที่มีอันตราย ควรเก็บไว้ให้ห่างไกลมือเด็ก

ภัยจากของเล่น
ในเด็กเล็กไม่ควรนำของเล่นที่ถอดประกอบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เด็กเล่น เพราะอาจติดในคอ หู จมูก ได้ง่าย

อาการสำลักอาหาร
ไม่ควรชวนเด็กให้ พูด วิ่งเล่น หรือหัวเราะ ในขณะที่อาหารอยู่ในปาก


หนังสือ สายใยแด่ลูกรัก
จัดทำโดย บริษัท ไวเอท-เอเยิร์สท์ (ประเทศไทย) จำกัด

Friday, April 26, 2019

อยากให้ลูกติด ต้องมีวิธี




อยากให้ลูกติด ต้องมีวิธี (Mother & Care)

            นอกเหนือจากปัญหาการติดพี่เลี้ยงของลูกแล้ว อีกหนึ่งปัญหาหนักอกหนักใจคุณพ่อหรือคุณแม่คือ การที่ลูกติดอีกฝ่ายมากกว่า จนทำให้นึกน้อยใจว่าลูกไม่รัก จนบางคนอาจทำตัวเหินห่างกับลูกไปเลย


            เอาเป็นว่าคุณพ่อและคุณแม่อย่าเพิ่งถอดใจค่ะ การทำให้ลูกรักและผูกพันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แค่ตั้งใจและลงมือทำเท่านั้น


ทำไม...ลูกติดแม่หรือพ่อมากกว่า

           เมื่อกลับมาบ้านจะเข้าไปอุ้มเจ้าตัวเล็ก แต่ลูกกลับไม่ยอมให้อุ้ม ไม่ยอมเล่นด้วย ร้องไห้บ้าง วิ่งหรือเบือนหน้าหนี ก็คงทำให้รู้สึกเสียใจใช่ไหมคะ ลองมาหาสาเหตุกันก่อนว่าเพราะอะไรจึงทำให้ลูกติดคุณแม่หรือคุณพ่อมากกว่า

            ลูกต้องการอยู่ใกล้คนที่รัก กับคนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจ โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 3 ปี (ก่อนเข้าเรียน) ที่ลูกจะได้อยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนแปลกหน้ามากนัก หากคุณพ่อคุณแม่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ คอยอยู่ใกล้ชิด ก็จะทำให้ลูกติดได้ไม่ยาก เช่นเดียวกันหากมีคนเลี้ยง (ญาติ หรือพี่เลี้ยง) ก็อาจทำให้ลูกติดคนเลี้ยงมากกว่าได้ ความใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความผูกพันกับลูกมากขึ้น

            ไม่มีเวลาให้ลูก รวมถึงการไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูกด้วย หากลูกติดคุณแม่มากกว่าคุณพ่อก็อาจเป็นเพราะคุณพ่อทำงานนอกบ้านมากเกินไป ลูกไม่ค่อยได้เห็นหน้า หรือคุณพ่อบางท่านอาจจะอยากอุ้ม อยากเล่นกับลูกแต่ไม่กล้าเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็ต้องค่อยๆ ฝึกจนเกิดความเคยชิน โดยเริ่มจากการเล่นสนุกง่าย ๆ อย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ ก่อนก็ได้ สำหรับลูกที่ติดคุณพ่อมากกว่าคุณแม่นั้น ให้ลองทบทวนดูว่าคุณแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานบ้านหรือเปล่า เช่น การทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร จนไม่ค่อยได้อยู่ ใกล้ชิดลูก ในส่วนนี้อาจตกลงกันโดยการหาคนมาช่วย แบ่งเบางานบ้าน คุณแม่จะได้ใช้เวลาอยู่กับลูกได้อย่างเต็มที่

            ความชอบของลูก กับบุคลิกที่แตกต่างของคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งจะต้องสำรวจตัวเองว่ามีท่าทางหรือบุคลิกที่ทำให้ลูกรู้สึกกลัว กังวล หรือไม่คุ้นเคยหรือไม่ เช่น ถ้าคุณแม่มีนิสัยเสียงดัง ใจร้อน ก็จะทำให้ลูกกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่คุณพ่อยิ้มง่าย อบอุ่น ลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีความสุขเวลาที่ได้อยู่กับคุณพ่อมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตด้วยว่าลูกชอบหรือไม่ชอบแบบไหนเพื่อจะได้นำมาปรับบุคลิกของตนเอง รวมถึงไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายจิตใจลูก เช่น ตะคอกเสียงดัง สะบัดมือลูก บังคับลูก เพราะจะทำให้ลูกจดจำฝังใจ ไม่กล้าเข้าใกล้อีก

            ส่งเสริมหรือขัดขวาง เป็นอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาว่าในช่วงเวลาที่อยู่กับลูกนั้น มีเวลาอยู่กับลูกมากน้อยเพียงใด และได้ทำสิ่งที่ส่งเสริมหรือขัดขวางต่อพัฒนาการของลูก เช่น จู้จี้จุกจิก บังคับลูกให้ทำ ให้กินตามที่ต้องการ หรือการห้ามไม่ให้ลูกเล่น โดยเฉพาะในวัยเตาะแตะที่กำลังชอบสำรวจ รื้อค้น สนุกกับการเดินวิ่งเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรห้ามในเรื่องที่ดูแล้วไม่เป็นอันตราย ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งรอบข้างด้วยตัวเองบ้าง คอยมองดูและให้กำลังใจเมื่อลูกทำสิ่งนั้นได้ดี แต่ถ้าลูกกำลังจะทำสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตราย เช่น คว้าสิ่งของมีคม ก็ควรเข้าไปห้ามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและบอกเหตุผลกับลูก ไม่ดุว่าด้วยเสียงดังเพราะจะทำให้ลูกตกใจกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้คุณอีก

            ไม่ใช้วิธีตามใจลูก ถึงแม้ว่าการตามใจจะเป็นวิธีที่ทำให้ลูกติดได้ง่าย เช่น การให้ขนมหรือลูกอมเพื่อให้ลูกเข้าใกล้ แต่จะเป็นการสร้างวินัยที่ไม่ดีให้กับลูก

            อย่าแสดงอารมณ์ต่อหน้าลูก เมื่ออยู่ใกล้ลูกไม่ควรแสดงอารมณ์หงุดหงิด โมโหหรือรำคาญให้ลูกเห็น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ลูกอาจจะยังไม่ยอมห่างจากคุณพ่อหรือคุณแม่ ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือบังคับเพราะลูกจะสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ ควรทำตัวให้ร่าเริงสดใสไว้เสมอ หากมีเรื่องไม่สบายใจ ควรแบ่งปัน ปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากอีกฝ่ายก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น


ทำอย่างไรให้ลูกติด?

            พอเห็นลูกสนิทกับคุณแม่หรือคุณพ่อมากกว่าแล้ว อาจจะรู้สึกดีใจปนน้อยใจนิด ๆ ใช่ไหมคะ อย่าเพิ่งรู้สึกน้อยใจค่ะ เพราะคุณก็สามารถแสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณก็รักเขาไม่น้อยได้เช่นกัน

            ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลิกเขินอายที่จะเข้าหาลูก การพูดคุย เล่านิทาน หรือการเล่นสนุกเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนชื่นชอบ ลองใช้เวลาวันละ อย่างน้อย 30 นาทีหลังกลับจากทำงานทุกวันค่อย ๆ สร้างบรรยากาศสนุกสนานร่วมกัน และสร้างความคุ้นเคยให้กับลูก ลองสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น นิทานเรื่องโปรด ของเล่นชิ้นโปรด แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นตัวช่วยในการเข้าหาลูก ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ในช่วงแรกอย่าใส่สาระความรู้หรือจริงจังมากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเบื่อค่ะ

            หาจุดเด่นให้เจอ โดยการลองสำรวจตัวเองว่ามีจุดเด่นอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์บ้าง เช่น สามารถเลียนแบบเสียงสัตว์ต่าง ๆ ได้หลายเสียง คุยเก่ง หรือชอบเล่าเรื่องสนุก ๆ ลองใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการเล่นสนุก แต่ต้องไม่ลืมสีหน้า ท่าทางและแววตาที่แสดงออกมาเวลาที่เข้าใกล้ลูก ต้องยิ้มแย้ม อ่อนโยน และแสดงถึงความอบอุ่นเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจ


ส่งเสริมลูก ให้รักพ่อหรือแม่ด้วย

            หากลูกติดพ่อหรือแม่ฝ่ายเดียว ก็ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันทำให้ลูกติดทั้งพ่อและแม่แล้วล่ะค่ะ

            หมั่นชมเชยอีกฝ่าย พูดถึงสิ่งดี ๆ ให้ลูกฟัง เช่น คุณพ่อเป็นคนใจดี เป็นคนเก่ง จะทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดี อยากเข้าใกล้และภาคภูมิใจในตัวพ่อหรือแม่ด้วย

            อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก จะทำให้ลูกตกใจ เกิดความกลัว ไม่อยากเข้าใกล้และยิ่งตีตัวออกห่าง หากมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน ควรหาที่เงียบ ๆ คุยกันดีกว่า

            เปิดโอกาสให้อีกฝ่าย โดยการสนับสนุนให้อีกฝ่ายเป็นคนสร้างบรรยากาศภายในบ้าน แล้วชวนให้ลูกเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น พ่อกำลังปลูกต้นไม้ แม่ก็อาจจะชวนลูกให้ไปดูคุณพ่อว่ากำลังทำอะไรสนุก ๆ อยู่รึเปล่า ในช่วงแรกลูกอาจจะยังไม่กล้า ก็ใช้วิธีทำกิจกรรมร่วมกันทั้งพ่อแม่และลูก ก็จะทำให้ลูกค่อย ๆ รู้สึกคุ้นเคยค่ะ

            ช่วยกันเติมแต่งครอบครัวให้มีแต่ความรัก ความอบอุ่น ด้วยการใกล้ชิดและใช้เวลากับลูกอย่างมีความสุขนะคะ!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
(Mother & Care)

Sunday, February 17, 2019

6 วิธีเลี้ยงลูกให้แฮปปี้ เป็นเด็กดีที่มีความสุขได้ง่าย ๆ





         วิธีเลี้ยงลูกให้มีความสุข ด้วย 6 วิธีง่าย ๆ เริ่มได้จากคุณพ่อคุณแม่ ที่จะช่วยให้เขาเติบโตเป็นคนดีที่มีความสุขได้ง่าย ๆ

         คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนอยากให้ลูกของตัวเองเติบโตมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นคนเก่งของพ่อแม่และสังคมกันทั้งนั้น แต่ในสังคมปัจจุบันนี้การจะเป็นคนเก่งที่ฉลาดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ ที่ประกอบด้วย ความเก่ง ความดี และความสุข ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งวิธีเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี และมีความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หรือหาซื้อของแพง ๆ มาให้ลูกแต่อย่างใดเลยค่ะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในตัวลูก เข้าใจในพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงอายุ และเลี้ยงดูเขาให้เหมาะสมตามวัย ก็จะทำให้เขาได้เรียนรู้ และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เก่ง ดี และมีความสุข ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน การทำงาน และประสบความสำเร็จในชีวิตได้

           ในเมื่อความสุขถือเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยขอนำบทความดี ๆ เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีความสุขทั้ง 6 วิธี ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกได้ เพื่อให้เขาได้มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่สามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

1. เล่นกับลูกเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์

          การเล่น เป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ทำให้เด็กมีความสุข ยิ่งถ้าเขาได้มีอิสระ และได้ใช้จินตนาการในการเล่นแบบต่าง ๆ แล้ว เขาก็จะมีโอกาสแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการเล่นได้เอง และถ้ามีคุณพ่อคุณแม่มาร่วมเล่นด้วย ก็จะช่วยพัฒนาความรักความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การแสดงความรักต่อลูกด้วยการกอด หรือหอมแก้ม ก็จะทำให้ใกล้ชิดกับลูก และช่วยเพิ่มความอบอุ่นในครอบครัวยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

2. อ่านหนังสือด้วยกันทุกวัน


          คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมเจ้าตัวน้อยถึงชอบให้เล่านิทานให้ฟังอยู่บ่อย ๆ  นั่นก็เพราะว่าเด็ก ๆ ชอบฟังเสียงคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟังอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก และยังเพิ่มความแน่นแฟ้นในครอบครัวได้ดีอีกด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือด้วยกันกับลูก สลับการสอนคำศัพท์ หรือถามตอบเกี่ยวกับเนื้อหาและแสดงความคิดเห็น นอกจากจะทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้รักการอ่านอีกด้วย

3. ให้ลูกสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และคนรอบข้าง

          การเข้าสังคมเป็นพื้นฐานการสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสมของเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคม ทั้งเพื่อน ๆ และคนรอบข้าง รวมถึงได้พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ที่ดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการดำเนินชีวิตในอนาคต เพราะจะช่วยให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักระเบียบวินัย รู้จักการแบ่งปัน ควบคุมอารมณ์ได้ดี และมีทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต

4. เป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาเห็น

          การสอนที่ดีที่สุด คือการที่ตัวผู้สอน หรือคุณพ่อคูณแม่ผู้ปกครองทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นอยู่เสมอ เพราะเด็กจะซึมซับจากพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่แสดงออกมาโดยอัตโนมัติมากกว่าการสอนด้วยคำพูดใด ๆ ซึ่งรวมไปถึงการแสดงอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่เครียดหรือหงุดหงิด ก็อาจทำให้ลูกเครียดและทำกิริยาก้าวร้าวออกมาได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแลตัวเองและควบคุมอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ

5. ชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี

          เมื่อลูกทำความดีหรือทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ควรให้คำชมและให้การสนับสนุน ให้เขาได้รู้ว่าคุณชื่นชมยินดีมากขนาดไหน เช่น การช่วยเหลืองานบ้าน หรือแบ่งปันขนมให้พี่น้อง ซึ่งคำชมนี้ถือเป็นกำลังใจและแรงเสริมทางบวกที่จะช่วยผลักดันให้เด็กทำในสิ่งดี ๆ ต่อไปได้เรื่อย ๆ ทั้งยังช่วยให้เขามีแรงกระตุ้นในการเรียนรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน และยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย

6. สังเกตพฤติกรรมลูกทั้งที่บ้านและโรงเรียน

          คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกขณะที่อยู่ที่โรงเรียน ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนและคุณครูได้หรือไม่ โดยอาจถามจากครูประจำชั้น หรือตัวของลูกเองว่าวันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เรียนวิชาอะไร เพื่อน ๆ และคุณครูเป็นอย่างไร รวมถึงสังเกตพฤติกรรมของเขาขณะอยู่ที่บ้าน หากวันนี้ลูกดูซึม ๆ ไม่ร่าเริงเหมือนก่อน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเข้าไปพูดคุยปรับทุกข์กับลูก ให้เขารู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกว่าเขายังมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ เสมอ

          
การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีและมีความสุขนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้เลยใช่ไหมคะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความเข้าใจในตัวลูก รวมถึงมีการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในกฎระเบียบ แต่ก็ควรสอนอย่างพอดี ไม่เข้มงวดหรือใช้อำนาจควบคุมลูกจนเกินไป อาจทำให้ลูกต่อต้านและไม่เชื่อฟังได้ นอกจากนี้การให้ความรักความอบอุ่นกับคนในครอบครัวก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะเด็ก ๆ ต้องการความรักจากครอบครัวยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ต่อให้จะซื้อของเล่นแพง ๆ แค่ไหนก็ไม่อาจเทียบเท่าความรักของคุณพ่อคุณแม่ได้เลยค่ะ ^_^

ข้อมูลจาก : yourtango.co, yourtango.com
เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/aimeelmahoney/asian-babies-and-kids/

Friday, February 15, 2019

เทคนิคเลือกหนังสือเด็ก




          ใกล้ถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปลายเดือน มี.ค.นี้แล้ว ได้เวลาที่พ่อแม่จะคัดสรรหนังสือสำหรับลูกเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย และพ่อแม่ควรศึกษาเทคนิคการเลือกซื้อหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับเด็ก ปฐมวัย ดังนี้

           1. หนังสือสำหรับเด็กควรมีความหลากหลาย ทั้งในด้านเนื้อเรื่องและภาพประกอบ ซึ่งอยู่ในรูปแบบนิทาน หนังสือภาพ หนังสือคำคล้องจอง สารานุกรม หนังสือกลุ่มกิจกรรมการประดิษฐ์ หนังสือผ้า หนังสือที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน หนังสือที่มีเสียงประกอบ ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมประสบการณ์รอบตัว

           2.  สิ่งที่ควรคำนึงถึงของหนังสือสำหรับเด็กที่ดี จะต้องมีการใช้ภาษาสละสลวย ช่วยให้เกิดจินตนาการ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนเกินไป

           3. รูปเล่มต้องมีความจูงใจให้เด็กสนใจ ขนาดตัวอักษร จำนวนหน้า จำนวนคำศัพท์ เหมาะสมกับวัย สีสบายตา ไม่ใช้สีสะท้อนแสง

           4. แบบฝึกคัดลายมือไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเชิงบูรณาการ จึงไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย


ไทยโพสต์
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/79446380899895679/

Monday, December 3, 2018

ข้อดีของการกอดลูก 9 ข้อ สัมผัสรักที่ยิ่งใหญ่ ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด




ข้อดีของการกอดลูก 9 ประโยชน์ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า การได้โอบกอดและหอมเจ้าตัวเล็กทุกวันนั้นดีขนาดไหน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลาที่คนเราไม่สบายหรือหาของดี ๆ มาทำให้ร่างกายแข็งแรง มักจะหันไปพึ่งศาสตร์การแพทย์หรือยาบำรุงกันซะส่วนใหญ่ แต่รู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้ว เราทุกคนนั้นมียาวิเศษที่หาได้ง่าย ๆ ใกล้ตัวจากลูกน้อยของเรานี่เอง ซึ่งยาที่ว่านั้นก็คือ "การโอบกอด" ที่วันนี้กระปุกดอทคอมขอยก 9 ข้อดีของการกอดลูก มาการันตีสรรพคุณ และทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ซึ้งถึงความสำคัญด้วยว่า การได้กอด ได้หอมลูกทุกวัน นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของทุกคนมากขนาดไหน รับรองคราวนี้ไม่ต้องไปตามหายาแพง ๆ กันอีกเลยล่ะค่ะ ^^

1. คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

          เมื่อคุณแม่โอบกอดลูกน้อยด้วยความรัก สมองจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อฮอร์โมนแห่งความรัก (Love Hormone) ออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวคุณแม่และคุณลูก เพราะช่วยทำให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพและปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทั้งยังเสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันของลูกน้อยสมบูรณ์ แข็งแรงดีอีกด้วย

2. ผ่อนคลายความเครียด

          นอกจากฮอร์โมนออกซิโทซินจะช่วยกระตุ้นน้ำนมแล้ว ยังทำหน้าที่ต่อสู้กับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ช่วยทำให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกรู้สึกผ่อนคลาย สงบสุข รวมถึงหลับสบายมากขึ้น สังเกตจากการที่เจ้าตัวเล็กของหลาย ๆ คน ชอบงอแงให้คุณพ่อคุณแม่โอบกอดเวลาเข้านอน หรือกระทั่งเด็กทารกเองก็สามารถสงบลงได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่ออยู่ในอ้อมกอดอุ่น ๆ ของคุณแม่นั่นเอง

3. กระตุ้นการทำงานของปอดและหัวใจ

          เวลาที่คุณแม่อุ้มหรือกอดลูกน้อยเอาไว้แนบอก จะทำให้ลูกได้ยินเสียงชีพจรของเราได้อย่างชัดเจน และส่วนใหญ่ เด็กจะเริ่มหายใจตามจังหวะการเต้นของหัวใจคุณแม่โดยอัตโนมัติ ถือเป็นการฝึกให้ปอดและหัวใจ รวมถึงระบบการหายใจของลูกเป็นปกติ โดยคุณแม่อาจตบหลังลูกเบา ๆ เป็นจังหวะคงที่ไปด้วยก็ได้ค่ะ

4. ช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล

          ด้วยความที่เด็กทารกยังมีผิวที่อ่อนแอและบอบบาง ทำให้ไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศได้ดีเท่าผู้ใหญ่อย่างเรา การสัมผัสตัวหรือการกอดลูกน้อยบ่อย ๆ โดยเฉพาะในหน้าหนาว จึงช่วยรักษาความอบอุ่น และปรับอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยให้สมดุลคงที่ได้

5. เสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของลูกแข็งแรง

          ว่ากันตามศาสตร์ของโยคะ การสัมผัสตัวกันและกัน เป็นเหมือนการถ่ายเทประจุไฟฟ้าธรรมชาติจากตัวเราไปสู่อีกคน เมื่อใดที่เราโอบกอดลูกน้อยแบบเนื้อแนบเนื้อ พลังงานจากตัวคุณพ่อคุณแม่จะส่งต่อไปยังร่างกายของลูก แนะนำให้ใช้ฝ่ามืออุ่น ๆ กดลงที่บริเวณหน้าอกของลูกน้อยเบา ๆ ระหว่างการกอดด้วย เพราะเป็นการกระตุ้นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ช่วยควบคุมและรักษาปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดขาวให้สมดุล พร้อมต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

6. ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย

          การกอดลูกน้อยโดยเฉพาะทารกนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวัยที่ประสาทตาและหูยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้สามารถรับความรู้สึกได้จากการสัมผัสเพียงเท่านั้น หากคุณแม่ขยันอุ้มเจ้าตัวเล็กมากอด มาหอม และแตะตัวด้วยความรัก ความเอ็นดูอยู่บ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย รวมถึงลดอาการงอแงให้น้อยลงด้วยค่ะ

7. ทำให้ลูกรู้จักคุณค่าในตัวเอง

          เพราะเด็กเล็กมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ ทำให้อาจมีการเอาแต่ใจ หรือเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นบ้างตามประสา การกอดเขาเอาไว้ให้แน่น ๆ นี่แหละค่ะคือตัวช่วยที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนสำคัญ ยังเป็นที่ต้องการ และยังได้รับความรักจากคนอื่น รับรองเลยว่าโตไปลูกจะมีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่น และรู้จักคุณค่าของตัวเอง ยิ่งถ้าได้กอดบ่อย ๆ ยิ่งช่วยย้ำให้รู้ด้วยว่า ลูกจะยังมีพ่อกับแม่ที่คอยห่วง คอยเป็นกำลังใจ และพร้อมให้ความรักกับลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะออกไปเจอกับเรื่องแย่ ๆ มาแค่ไหนก็ตาม

8. ช่วยลดอาการปวดเมื่อย

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีอาการปวดเนื้อเมื่อยตัวเป็นประจำ บอกเลยว่ายาวิเศษดี ๆ นั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพียงคุณอุ้มลูกน้อยมาไว้ในอ้อมกอด ก็จะรู้สึกได้ทันทีเลยว่าความตึงเครียดที่สะสมเอาไว้นั้นเบาลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ รู้สึกผ่อนคลายไปด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมานั่นเอง

9. เป็นการลงโทษที่ดีที่สุด

          พูดถึงเด็กวัยไร้เดียงสา ที่บางครั้งก็อาจทำผิดโดยไม่รู้ตัวหรือเพราะความซุกซนได้ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการว่ากล่าวตักเตือน ขอแนะนำว่าการกอดจะเป็นการลงโทษที่ได้ผลดี มากกว่าการคว้าไม้เรียวมาตีอย่างแน่นอน เพราะความอบอุ่นของอ้อมกอดจะทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาได้รับการให้อภัย ไม่รู้สึกกลัวว่าต้องถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แต่ก็อย่าลืมอธิบายถึงผลเสียของการกระทำในครั้งนั้น ๆ ของลูกด้วยนะคะ เจ้าตัวเล็กจะได้ทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และจำเอาไว้เป็นบทเรียน ไม่ทำผิดซ้ำอีกในอนาคต

         
 รู้ว่ามีข้อดีมากมายขนาดนี้แล้ว สงสัยคุณพ่อคุณแม่ได้จับลูกน้อยมากอดกันทั้งวันแน่เลย.. แต่อย่าลืมออมแรงกันด้วยน้า ไม่งั้นเจ้าตัวเล็กช้ำกันพอดี ><”

ข้อมูลจาก : parentingforbrain.com, thenewageparents.com, smartparenting.com.ph, mindbodygreen.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/528750812473052754/