Friday, March 11, 2016

สำรวจดวงตาลูกวัยเรียน ก่อนสายเกินไป




  ดวงตาของ ลูกรักวัยเรียนในช่วงอายุ 3-5 ปี ต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตลูกน้อยเป็นพิเศษค่ะ เพราะหากลูกมีสายตาที่ผิดปกติต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ เรื่องดวงตาของลูกน้อยจากนิตยสาร Mother & Care มาฝากคุณพ่อคุณแม่หมั่นสำรวจดวงตาของลูกตั้งแต่ยังเล็ก พร้อมเคล็ดลับในการพาลูกไปพบคุณหมอครั้งแรก มาฝากกันค่ะ

          เพราะ ดวงตาเป็นอวัยวะส่วนสำคัญในการเรียนรู้ เด็กหลายคนต้องสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และการมองเห็น ด้วยความชะล่าใจหรือรู้ไม่ทันปัญหาของพ่อแม่ ดังนั้น การรู้ก่อนแก้ไขก่อน ไม่รอให้สายเกินไป ทำได้ด้วยการหันมาใส่ใจสังเกตดวงตาของลูกตัวน้อยค่ะ
 

ความผิดปกติที่พบได้

 
สายตาสั้น

          เป็นภาวะที่ภาพตกไม่ถึงจอประสาทตา ทำให้การมองไกลไม่ชัด

          พบว่าเด็กที่สายตาสั้นมักดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ ต้องก้มมากเวลามองใกล้ หยีตา กะพริบตา อาจปวดศีรษะ และเวลามองมักจะเอียงคอหันหน้าไปด้านข้าง พันธุกรรม กล่าวคือถ้าทั้งพ่อและแม่สายตาสั้น โอกาสที่ลูกสายตาสั้นก็มีมากขึ้น และเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สายตาใกล้ ๆ เป็นเวลานาน

          การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เพราะเมื่อสายตาสั้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่สายตาสั้นจะหยุดเอง เมื่ออายุประมาณกลางวัยรุ่น (อายุ 14 -18 ปี) คุณสามารถป้องกันได้โดย

          หลีกเลี่ยงการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนอ่านหนังสือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมในโทรศัพท์ รวมถึงการอ่านหนังสือในรถยนต์หรือห้องน้ำที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ

          จัด สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือบนโต๊ะที่มีแสงไฟส่องสว่างจากทางซ้ายมือ หรือควรใส่แว่นที่รู้สึกสบายตา การใช้แว่นตา 2 ชั้น เพื่อลดการเพ่ง หรือการใช้แว่นกำลังขยายน้อย ๆ ก็ทำให้สายตาสั้น ๆ เพิ่มขึ้นไม่แตกต่างกัน และการใช้คอนแทคเลนส์เพื่อกดกระจกตาให้แบนลง เมื่อเลิกใส่แล้วสายตาก็กลับมาสั้นเหมือนเดิม
 

ตาเหล่

          คือสภาวะที่ตาทั้ง 2 ข้าง ไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งชนิดเหล่เข้า-เหล่ออก เหล่ขึ้นบนหรือลงล่าง ความผิดปกตินี้อาจเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือในช่วงอายุใดก็ได้ ลักษณะตาเหล่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ ตาเหล่เข้า และตาเหล่ออก

          1. ตาเหล่เข้า เป็นตาเหล่ที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

          เกิดจากสายตายาวผิดปกติ มักพบในเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี ชนิดนี้รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ใส่แว่นที่มีกำลังขยายเหมาะสม เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา ซึ่งเด็กจะมีอาการตาเหล่เข้าตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 เดือน รักษาได้โดยการผ่าตัดตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อทำให้ตาเข้าสู่ภาวะปกติและรักษาการมองเห็นภาพ 3 มิติ ไม่ให้เสียไปอย่างถาวร

          2. ตาเหล่ออก พบได้บ่อยขณะที่เด็กเหม่อ เหนื่อย หรือไม่สบาย สังเกตได้ว่า เมื่อมีแสงสว่างมาก ๆ เด็กจะหรี่ตาข้าหนึ่ง รักษาได้โดยการใช้แว่นตา ฝึกกล้ามเนื้อตา ใช้แว่นปริซึม แต่ถ้าไม่ได้ผลต้องใช้วิธีผ่าตัดแก้ไข วิธีการสังเกต ไม่ควรดูที่ตาขาวหรือตาดำ ให้คุณใช้ไฟฉายส่องแล้วดูแสงสะท้อนภายในดวงตา ว่าอยู่ตรงกลางหรือไม่ ถ้าแสงสะท้อนในดวงตาไม่อยู่ตรงกลางแสดงว่าเป็นตาเหล่จริง ควรรีบพาลูกพบจักษุแพทย์
 

ตาขี้เกียจ

          คือสายตาข้างที่ขี้เกียจจะมองเห็นได้ไม่ดีเท่ากับสายตาปกติอีกข้างหนึ่ง

          ทั้งที่ไม่มีปัญหาโรคเกี่ยวกับตาอื่น ๆ และเมื่อใส่แว่นสายตาแล้ว ก็ยังมองเห็นไม่ชัด จึงเป็นภาวะที่ตามองเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากเด็กใช้ตาข้างนั้นน้อยเกินไป ที่จริงดวงตาก็เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ หากไม่ได้ใช้งานเลย ประสิทธิภาพก็จะลดลง สาเหตุนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยที่พบบ่อย ๆ คือ เด็กที่ตาเหล่หรือมีสายตาแต่ละข้างไม่เท่ากันแต่มองเห็นได้ปกติก็เลือกที่จะ ใช้ตาข้างที่ดีเพียงข้างเดียว ทำให้ตาอีกข้างที่ไม่ได้ใช้งานจนเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น และกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคตาขี้เกียจ ก็อาจจะสายเกินแก้

          ดังนั้นคุณควรใส่ใจสังเกตดวงตาของลูกว่าเป็นอย่างไร และการพาลูกไปตรวจดวงตาอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการรักษานั้น ทำได้โดยการให้เด็กใช้ตาข้างที่มีปัญหามากขึ้น (คุณหมออาจใช้วิธีปิดตาข้างที่เห็นชัดหรือใช้ยาหยอดตาเพื่อให้สายตามัวลง) การทำเช่นนี้จะช่วยให้สายตาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปิดตาเด็กนั้น ควรปิดตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะหากทำตอนที่เด็กมีอายุมากขึ้น อาจมีความยุ่งยากและเห็นผลได้ช้า


ควรพบจักษุแพทย์เมื่อใด

          พบอาการผิดปกติ หากสังเกตเห็นว่า ดวงตาของลูกมีอาการผิดปกติ เช่น หนังตาตก ตาเหล่ น้ำตาไหล ตาแดง และอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพาลูกมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจเช็กสาเหตุ หรือรับการรักษา เพราะความผิดปกติบางอย่าง หากปล่อยเวลาทิ้ง โดยไม่ได้รับการรักษา อาจมีผลกับการสูญเสียการมองเห็นของเด็ก

          ตรวจเป็นปกติ กรณีที่ดวงตาลูกปกติไม่มีอาการให้สังเกตเห็น อาจไม่จำเป็นต้องพาไปพบจักษุแพทย์ ทว่า การตรวจดวงตาเป็นระยะ ๆ ตามช่วงอายุก็มีส่วนดีอยู่นะคะ เพราะช่วยให้คุณรู้ปัญหาสุขภาพดวงตาลูกได้เร็ว แก้ไขได้ทันท่วงที่ทีมีปัญหา เช่น
 

ช่วงเบบี๋ อายุ 6 เดือน :


          ตรวจดูว่าเด็กใช้สายตาเท่ากันทั้ง 2 ข้าง หรือไม่ การกลอกตาผิดปกติ มีตาเหล่ และมีสายตาสั้นหรือยาวมากกว่าปกติหรือไม่

เด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง-3 ขวบ :

          สามารถวัดสายตาเด็กออกเป็นค่ามาตรฐานได้เป็นครั้งแรก หากมีสายตาผิดปกติ คุณหมอจะรักษาได้อย่างทันท่วงที

เด็กอายุได้ 6-7 ปี :

          วัยที่เด็กเริ่มเข้าเรียนจะต้องใช้สายตาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงควรพามาวัดสายตา ว่าจำเป็นต้องใช้แว่นหรือไม่

          ครั้งต่อ ๆ ไป อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง : เพื่อตรวจเช็ค สายตาและสุขภาพตาทั่วไป
 

พาลูกไปตรวจดวงตา

          เตรียม ตัวให้พร้อม มีประโยชน์จากการตรวจและการรักษาค่ะ และสิ่งที่ต้องเตรียม เช่น ประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วยของลูก ถ้าใช้แว่นตาหรือยาหยอดตาให้นำติดตัวมาด้วย ถ้าเด็กไม่สบาย เช่น เป็นหวัด น้ำมูกไหล ควรรอให้หายก่อน เพราะทำให้เด็กขาดสมาธิ และมีผลต่อความร่วมมือน้อยลง นอกจากนี้ เมื่อตรวจเสร็จแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถสอบถามคุณหมอได้โดยละเอียด

          ตรวจ สายตาให้สนุก บางครั้งการพาลูกไปพบคุณหมอ อาจจะต้องจูนกันเล็กน้อย เพื่อให้ลูกของคุณรู้สึกดีกับการมาพบคุณหมอตั้งแต่ครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไป เช่น

         ไม่ควรดุ ขู่ หรือลงโทษเด็กในห้องตรวจ

         เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดกับหมอโดยตรง

         ขณะ วัดการมองเห็น เด็กอาจอ่านผิด คุณก็ไม่ควรดุหรือทักเด็ก หรือหัวเราะเพราะอาจทำให้เด็กไม่กล้าตอบคำถาม แต่เปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจ และชมเชย
 

          ทุกเรื่องของลูกหากขาดตกบกพร่องจุดไหนไป ก็รีบสำรวจหาทางป้องกัน และเมื่อรู้ทันปัญหาสายตาแล้วก็ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอด้วยค่ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
Vol.11 No.132 ธันวาคม 2558
http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ 

No comments:

Post a Comment