Wednesday, January 27, 2016

ลูกเป็นเด็กอ่อนไหว..ทำอย่างไรดี





      ในสังคมทุกวันนี้ เราจะสามารถพบเห็นเด็กอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึก (Highly sensitive child) ได้ไม่ยากนัก จากการศึกษาวิจัยนั้นพบได้ถึงร้อยละ 15-20 ของเด็กทั่วไปเลยทีเดียว เด็กซึ่งอ่อนไหวมักไวต่อการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และอ่อนไหวต่อความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ปัญหาสำคัญของพ่อแม่ก็คือต้องพยายามหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กอ่อนไหวรู้สึกเครียดได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กซึ่งอ่อนไหว จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ครับ

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็กอ่อนไหว

          เด็กกลุ่มนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบประสาทซึ่งไวต่อ การตอบสนองกับทุกสิ่ง ด้วยเหตุนี้เขาจึงไวต่อการรับรู้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแม้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังไวต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแม้เพียงเล็ก น้อย นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังไวต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งรุนแรง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงอารมณ์เครียดของผู้อื่นอีกด้วย เด็กอ่อนไหวจึงอาจแสดงพื้นฐานอารมณ์ออกมาได้ทั้ง 2 ประเภท คืออาจเป็นเด็กเลี้ยงยาก เครียดง่าย อารมณ์รุนแรง ในขณะที่บางคนอาจเงียบ เก็บตัว ปรับตัวยาก หากพบกับคนซึ่งไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตามเด็กกลุ่มนี้ทุกคนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และสภาพแวด ล้อมซึ่งเปลี่ยนไป

          ต่อไปนี้เป็นลักษณะของเด็กอ่อนไหว ซึ่งมาจากแบบสอบถามพ่อแม่ (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกข้อ)

         * ตื่นเต้น ตกใจง่าย

         * บ่นรำคาญ เสื้อผ้าที่ใส่ไม่สบาย ตะเข็บถุงเท้า หรือป้ายติดยี่ห้อที่คอเสื้อ

         * ไม่ชอบเมื่อถูกทำให้ตื่นเต้นหรือประหลาดใจ

         * จะเรียนรู้ได้ดีกว่าหากใช้วิธีการแนะนำอย่างนุ่มนวล แต่มักไม่ได้ผล หากใช้วิธีการลงโทษรุนแรง

         * มักจะพยายามอ่านใจ เดาใจพ่อแม่

         * ใช้คำพูดเกินวัย พูดเหมือนเป็นผู้ใหญ่

         * สังเกตได้ถึงแม้กลิ่นที่ผิดปกติไปเพียงเล็กน้อย

         * มีอารมณ์ขัน

         * มีความสามารถในการหยั่งรู้บางสิ่งบางอย่างเองได้

         * เข้านอนยาก หลังผ่านเหตุการณ์ตื่นเต้นในวันนั้น

         * ไม่ยอมทำหรือเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดี ๆ ตั้งแต่แรก

         * เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ๆ ถ้าเสื้อผ้าเปียกชื้น หรือเลอะดินทราย

         * ชอบถามคำถาม

         * คาดหวังความสมบูรณ์พร้อม (perfectionist)

         * ช่างสังเกตในอารมณ์ผิดปกติของผู้อื่น

         * ชอบเล่นเงียบ ๆ คนเดียว

         * ถามคำถามที่ซับซ้อนและชวนให้คิด

         * อ่อนไหวมากต่อความเจ็บปวด

         * เบื่อหน่ายสถานที่อึกทึก หรือมีคนพลุกพล่าน

         * ช่างสังเกตถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น สิ่งของที่ถูกเคลื่อนย้ายไป หรือการเปลี่ยนแปลงของคนรอบตัว

         * ระมัดระวังว่าตนเองต้องปลอดภัย หากต้องปีนที่สูง

         * ผลงานจะดี ถ้าไม่มีคนแปลกหน้าอยู่ด้วย

         * มีอารมณ์ลึกซึ้งกับทุกเรื่อง

อาจถูกเข้าใจผิด

          ลักษณะเฉพาะดังกล่าวของเด็กอ่อนไหวอาจทำให้คุณพ่อ คุณแม่ คุณครูหรือแม้แต่นักจิตวิทยาบางคน เข้าใจลักษณะทางอารมณ์เช่นนี้ว่าเป็นผลมาจากความผิดปกติบางอย่าง เช่น ถูกมองว่าเป็นเด็กขี้อาย ขี้กลัว เป็นเด็กมีปัญหาพฤติกรรม หรือบางรายอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเหตุปัจจัยเนื่องมาจากความอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกของเขานั่นเอง และหากเรามองลึกลงไปในจิตใจอันอ่อนไหวของเด็ก ๆ เหล่านี้ อาจจะพบลักษณะว่ามีจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่นซ่อนอยู่ เราจึงมีความจำเป็นต้องเลี้ยงดูเด็กอ่อนไหวด้วยความเข้าใจในตัวเขา เข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของเขา รวมไปถึงชื่นชมสิ่งดี ๆ ในตัวเขา ไม่เช่นนั้นแล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีโอกาสจะซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้ง่าย หรือกลายเป็นคนขี้อาย และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว หลายคนมักไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อีก

จะช่วยได้อย่างไร

          เราจะสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ ซึ่งอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึก ได้ด้วยหลักการ ดังต่อไปนี้

          ** ให้เวลาปรับตัว เด็กซึ่งอ่อนไหวง่าย ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงนั้นมักต้องการมีโลกส่วนตัว เด็กเหล่านี้มักชอบเล่นคนเดียว และต้องการพื้นที่เป็นอิสระส่วนตัว หลังกลับจากเลิกเรียนหรือกลับจากเข้าค่าย เด็กซึ่งอ่อนไหวง่ายมักต้องการเวลาพัก คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาให้ลูกได้ผ่อนคลาย

          ** หลีกเลี่ยงฝูงชน เด็กอ่อนไหวทุกคนจะไม่ชอบที่ ๆ มีคนมาก ๆ ฝูงชนอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กซึ่งอ่อนไหวอยู่แล้ว เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ซึ่งมีคนพลุกพล่าน สถานที่ซึ่งมีแสงสว่างจ้า หรือแม้แต่ภาพยนตร์ซึ่งมีเนื้อหารุนแรง บางครั้งบางคราวคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีรอจังหวะเวลาซึ่งคนไม่พลุกพล่าน หลีกเลี่ยงเวลาเร่งด่วน หรือช่วงเวลาใกล้มื้ออาหารหลัก ซึ่งมักมีคนพลุกพล่านมาก ๆ

          ** เปิดโอกาสให้สัมผัสธรรมชาติและสิ่งที่สวยงาม การชักนำลูกซึ่งอ่อนไหวไปสัมผัสธรรมชาติ และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ จะช่วยให้เด็กมีอารมณ์ดีขึ้น ตัวอย่างธรรมชาติอันสวยงามก็เช่น น้ำตก ทะเล

          ** เปิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กซึ่งอ่อนไหวง่ายมักชอบมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ การร้องเพลง วิดีโอเกมที่สร้างสรรค์หรือกิจกรรมอื่นใดซึ่งลูกหลานมีความถนัดอยู่แล้ว

          ** เล่นกับลูกบ่อย ๆ เด็ก ๆ กลุ่มนี้ อ่อนไหวต่อการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนซึ่งอยู่แวดล้อมตัวเขา รวมไปถึงคนซึ่งใช้เวลาร่วมกับเขาเป็นประจำ นักจิตวิทยาพบว่าเด็กอ่อนไหวซึ่งใช้เวลาเล่นกับพ่อแม่บ่อย ๆ จะมีอารมณ์และความรู้สึกซึ่งมั่นคงกว่า มีความเชื่อมั่นในตนเองมากกว่า และสามารถเผชิญอุปสรรคได้ดีกว่า

          ** เปิดโอกาสให้เลือก การให้โอกาสเด็กได้เลือก หรือให้ตัวเลือก ตัวอย่างเช่น การที่คุณพ่อคุณแม่จะเรียกลูกเข้านอน อาจเปิดโอกาสให้เลือกเช่น "เอาล่ะ ถึงเวลานอนแล้วลูก ถ้าลูกอยากมีเวลาอ่านนิทาน ก่อนนอนสัก 20 นาที ลูกก็ควรรีบไปอาบน้ำ แปรงฟันเดี๋ยวนี้"

          ** สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง พยายามสร้างสรรค์ความภาคภูมิใจในตนเอง ลดความรู้สึกอับอาย ใช้การควบคุมกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยอย่างชาญฉลาด รวมไปถึงสอนให้เด็กรู้วิธีที่จะพูดคุยถึงความอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกของตัวเอง

          ** สอนลูกให้รู้จักความสุข เด็กอ่อนไหวต้องการให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือด้านอารมณ์หลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วยให้เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ รู้จักปลดปล่อยอารมณ์ด้วยวิธีการอันเหมาะสม เสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เช่นเดียวกันกับรู้จักแสวงหาความสุข และคนซึ่งจะเป็นครูสอนวิชาแห่งความสุขที่ดีที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ครับ

          เด็กซึ่งอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงดูอย่างเหมาะสมและเปลี่ยนมุมมองใหม่ ให้ความเข้าใจ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามเสริมสร้างคุณค่าในตัวเองให้ลูก เด็กเหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งปกติและมีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์ได้ บางทีการที่เด็กคนหนึ่งอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกนั้น อาจเป็นสิ่งมีค่าสำหรับโลกเราก็เป็นไปได้ครับ

เรื่อง : นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แหล่งที่มา  M&C แม่และเด็ก, http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://de.pinterest.com/pin/443675000770962136/

No comments:

Post a Comment