Wednesday, January 20, 2016

วัยเตาะแตะกับกิจกรรมเสริมสมอง




 
      เซลล์ประสาทของลูกจำนวนหนึ่งล้าน ล้านเซลล์ที่ว่ากันว่า เท่ากับดวงดาวบนทางช้างเผือกนั้น แม้จะสร้างเสร็จมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว แต่ความสามารถนั้นต้องฝึกฝนอีกมากค่ะกว่าจะเชี่ยวชาญ ยิ่งลูกน้อยมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับตนเองมากเท่าไหร่ เซลล์ประสาทก็จะยิ่งติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันมากไปด้วย ศักยภาพของสมองก็ยิ่งทำงานได้ดีขึ้น

สำหรับลูกน้อยวัยเตาะแตะนี้ มีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพสมองดังนี้ค่ะ

          ทราบไหมคะการที่พ่อแม่ใส่ใจพูดคุย หรือ สื่อสารโต้ตอบกับลูกวัยนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์สมองของลูก ส่งกระแสสัญญาณเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันค่ะ ฉะนั้นต้องพูดคุยสื่อสารกับลูกมาก ๆ นะคะ

           ในวัย 2 เดือนเจ้าตัวน้อยเริ่มส่งเสียงแบบหลากหลาย เพื่อ สื่อความหมาย ทั้งเริ่มที่จะเข้าใจในน้ำเสียงหลากหลายที่เขาได้ยินด้วย ครั้นเข้าสู่วัยเตาะแตะลูกก็จะเริ่มจำทำนองและจังหวะของเพลงได้ ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยให้สมองลูกกระฉับกระเฉง เซลล์ประสาททำงานส่งสัญญาณไปมาระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้นการชวนลูกร้องเพลง หรืออ่านคำคล้องจองจึงเป็นสิ่งจำเป็น ต่อการส่งเสริมศักยภาพสมองของลูกวัยนี้ค่ะ

           ลูกวัยเตาะแตะเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ และมีปฏิกิริยาต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ยินแล้วค่ะ ดังนั้นการเล่านิทานให้ฟัง แล้วต่อด้วยการให้ลูกแสดง หรือเล่นเป็นตัวละครในนิทาน จะช่วยให้ลูกสนุกและเข้าใจเรื่องราวได้แจ่มแจ้งมากขึ้น เพราะลูกได้ฝึกคิดว่าถ้าเป็นตัวละครนั้น ๆ จะทำอยางไร เหมือนหรือต่างจากที่ตัวละครในนิทานทำ แน่นอนว่าวิธีนี้ย่อมดีต่อการทำงานของสมองลูกค่ะ

           ปล่อยให้ลูกมีเวลาที่ได้เล่นหรือสังสรรค์กับเพื่อน เพราะการได้เล่นกับเพื่อนเท่ากับลูกได้มีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้เซลล์สมองของลูกทำงานส่งและรับระหว่างกันไปด้วย

           การที่ลูกได้สื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุย เล่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ เท่ากับเป็นการทำให้สมองของลูกได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้สมองของลูกทำงานแข็งขันมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น และมีประสบการณ์มากขึ้นเช่นกัน

           นอกจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่ลูกเรียนรู้ในแต่ละวันแล้ว การใส่ใจต่อปฏิกิริยาที่ลูกแสดงออกผ่านการเรียนรู้นั้น ๆ แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะนั่นเท่ากับสมองของลูกได้ดึงเรื่องราวจากความจำในเรื่องนั้น ๆ ออกมาทบทวน ซึ่งการคิดทบทวนนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพสมองทางหนึ่งค่ะ

          ทราบอย่างนี้แล้วอย่ารอช้าค่ะ รีบกระโจนเข้าร่วมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานให้ลูก เพื่อส่งเสริมให้สมองของลูกพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ค่ะ


แหล่งที่มา  รักลูก, http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://play.google.com/store/apps/details?id=air.Photos.beautiful.children.A4enc

No comments:

Post a Comment