Friday, January 1, 2016

มือใหม่หัดหม่ำ




       เมื่อถึงวัยที่การกินนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อร่างกายที่เติบโตอย่างรวด เร็วของลูก ลูกจึงควรได้รับอาหารเสริม และในอาหารเสริมนั้น คุณแม่ควรใส่ใจทั้งการเลือกสรร และความสอดคล้องกับพัฒนาการเรื่องการเคี้ยว และการฝึกวินัยเรื่องการกิน

มื้อแรกของหนู

         ส่วนมากแล้วคุณแม่จะเริ่มให้อาหารเสริมกับลูกในวัย 4 - 6 เดือน อาหารเสริมที่ให้ลูกเป็นครั้งแรกนั้น มักจะเป็นน้ำส้มคั้น แต่คุณแม่จำนวนไม่น้อยใช้วิธีคั้นน้ำส้มใส่ขวดนมให้ลูกดูดเหมือนเวลาให้นม กับเค้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเริ่มให้ในปริมาณน้อย ๆ เพียงแค่ 1 - 2 ช้อนชาก่อน หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละน้อย เมื่อลูกคุ้นกันน้ำส้มแล้ว ค่อยเปลี่ยนไปให้น้ำผลไม้หรือน้ำผักชนิดอื่น ๆ หรือเพิ่มกล้วยน้ำว้าสุกครูด ข้าวบด หรือข้าวบดผสมไข่แดง ฟักทองนึ่ง

         เมื่ออายุลูกเข้า 7 เดือน จึงให้เนื้อสัตว์ทุกประเภทได้ การเตรียมอาหารเสริมให้ลูกต้องเป็นอาหารที่มีคุณค่าครบทั้ง 5 หมู่ และเหมาะสมในแต่ละวัย เพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตทางร่างกายของลูกเป็นไปอย่างสมบูรณ์

กว่าหนูจะเคี้ยวเป็น

         เรื่องการเคี้ยวอาหาร เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มักมองข้ามไป ด้วยความคิดที่ว่า เด็กควรทำได้เองเหมือนๆ การดูดนม แต่ความจริงแล้วการเคี้ยว มีขั้นตอนและพัฒนาการที่ซับซ้อน และต้องการการฝึกฝน ต่างจากการดูดนมที่เด็กสามารถดูดได้คล่องแคล่วตามธรรมชาติ เชื่อไหมคะว่า สาเหตุของการไม่ยอมกินอาหาร หรือการเป็นเด็กกินยากในเด็กวัย 1 - 3 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่เค้าขาดทักษะเกี่ยวกับการเคี้ยวค่ะ

         ปกติเด็กจะเริ่มแสดงอาการที่บ่งบอกว่าพร้อมจะเคี้ยว ในช่วงหย่านม ซึ่งก็คือช่วงวัย 7 - 12 เดือน โดยในช่วงแรก เค้าจะรู้จักกลืนอาหารโดยใช้ลิ้นเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมกับปิดปาก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาเรียนรู้ที่จะปิดปากขณะกลืนอาหาร หลังจากที่เคลื่อนไหวลิ้นได้เก่งแล้ว เค้าจะเริ่มรู้จักใช้ลิ้นบดอาหารกับเพดานปากก่อนที่จะกลืนอาหารของไป ต่อมาเขาจะเริ่มรู้จักการเคี้ยวด้วยการใช้ลิ้นดันอาหารเข้าไปยังเหงือกด้าน ใน แล้วใช้เหงือกบดอาหาร

         การเคี้ยวโดยใช้เหงือกนี้เป็นสัญญาณของการเคี้ยวอย่างผู้ใหญ่เรา ที่ใช้ฟันด้านในในการบดเคี้ยวอาหารยังไงล่ะคะ

         ระหว่างที่ลูกหัดเคี้ยวด้วยเหงือกนี้ คุณแม่ควรให้ลูกได้ลองรับประทานอาหารหลากหลายชนิด ที่มีความแข็ง นุ่ม แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการด้านการเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สารอาหารที่ควรเสริม

         ไม่เพียงลูกจะต้องได้รับอาหารที่หลากหลายเพื่อฝึกเคี้ยว สารอาหารต่าง ๆ ในอาหารต้องครบถ้วน โดยเฉพาะ ไอโอดีน ธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามินเอ และแคลเซียม ซึ่งในสารอาหารเหล่านี้ มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของเด็กมาก จึงควรเน้นเป็นพิเศษ

         ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ และการพัฒนาของสมอง มีผลต่อการเรียนรู้และความจำ ไอโอดีนพบมากในอาหารทะเล แต่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี จะแพ้อาหารทะเลได้ง่าย

         ธาตุเหล็ก มี ส่วนสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีมากในตับ เนื้อสัตว์ เลือด ไข่แดง ผักสีเขียวเข้ม ถั่วเมล็ดแห้ง ถ้าเด็กทารกขาดธาตุเหล็กอาจจะทำให้พัฒนาการทางสมองด้อยกว่าเด็กปกติ หากต้องการให้ร่างกายของลูกดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ดีขึ้น ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงควบคู่ไปด้วย

         โปรตีน เป็นสารอาหารที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของลูก ช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อ และการเจริญเติบโต โปรตีนมีมากในเนื้อสัตว์ทุกชนิด นม ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง

         วิตามินเอ ช่วยปรับสภาพสายตา สร้างเซลล์เนื้อเยื่อและเป็นเกราะป้องกันโรคต่าง ๆ ให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นอาหารบำรุงผิวได้เป็นอย่างดี มีในผักใบเขียว เหลือง และแสด เช่น มะม่วงสุก มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน ฟักทอง แครอท คุณพ่อคุณแม่สามารถนำผักผลไม้เหล่านี้มาบดรวมกันเป็นอาหารเสริมให้ลูกได้

         แคลเซียม มีประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก ฟัน และเล็บของลูก พบในกุ้งแห้ง กุ้งแห้งป่น ปลาตัวเล็ก ๆ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วเมล็ดแห้ง งา ถั่วแดง ซึ่งเราสามารถนำไปทำเป็นอาหารให้ลูกทานอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ตุ๋นปลาป่นกับไข่ ผักต้มหรือผักบดรวมมิตร น้ำเต้าหู้ถั่วแดง ฯลฯ

สารปรุงรส...เรื่องต้องระวัง

         ช่วงที่หัดให้ลูกรับประทานอาหารเสริม คุณแม่มักอยากให้ลูกรับประทานได้เยอะ ๆ จึงอดไม่ได้ที่จะเติมน้ำตาล และสารปรุงรสต่าง ๆ ลงไปในอาหาร จริงอยู่ว่าการทำเช่นนั้นทำให้ลูกเจริญอาหารขึ้น แต่ก็อาจจะทำให้ลูกติดรสหวาน จนหากไม่ได้เติมน้ำตาลลงในอาหารจะรู้สึกว่าไม่อร่อย และไม่ยอมรับประทานอาหารนั้นเลย

         เด็กบางคนติดหวานจนหากไม่ได้รับประทานของหวาน ๆ เช่น ทอฟฟี่ หรือขนมหวาน จะงอแง ไม่ยอมรับประทานอาหารมื้อหลัก และนิสัยติดหวานนี้ก็จะติดตัวไปจนเขาโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งเด็กติดหวานมักมีน้ำหนักที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ ไม่อ้วนเกินไป เพราะกินแต่อาหารหวาน ๆ ที่มีแป้งและน้ำตาลมาก ก็จะมีน้ำหนักจะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานไปเลย เพราะไม่ยอมกินอะไรนอกจากขนม จนกลายเป็นเด็กซูบผอมอมโรค

         นอกจากนี้หากลูกติดที่จะรับประทานแต่อาหารหวาน ๆ ก็จะทำให้ฟันผุได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณหลุมร่องฟันบนด้านบดเคี้ยวและซอกฟัน รูฟันที่ผุนี้ยังเป็นที่สะสมของเศษอาหารและเชื้อโรค ซึ่งนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บได้อีกหลาย ๆ โรค จะสังเกตได้ว่าเด็กที่ติดหวาน ฟันผุ มักเป็นหวัดและเจ็บคอบ่อย ๆ

         ดังนั้น ควรใช้ความหวานจากความสดใหม่ของอาหารที่นำมาปรุง หรือความหวานจากผักบางชนิดมากกว่า และไม่ควรเติมซอสปรุงรสในปริมาณที่มากเกินไป เพราะในซอสปรุงรสนอกจากจะมีความเค็ม ที่อันตรายต่อเด็ก ๆ ไม่แพ้ความหวานแล้ว ยังอาจมีผงชูรสอยู่ด้วย

ฝึกหนูหม่ำเป็นที่

         ในวัยเริ่มรับประทานอาหารเสริมนี้ คุณแม่ควรฝึกให้เค้ารับประทานอาหารอยู่กับที่ โดยจัดให้เค้านั่งกินอาหารที่โต๊ะรับประทานอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งก็มีหลายแบบหลายขนาดให้เลือก

         ส่วนระยะเวลาในการให้รับประทานอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับนิสัยของเด็กแต่ละคน บางคนกินเร็ว บางคนกินช้า แต่ถ้าช้าเกินไป กว่าจะกินหมดแต่ละมื้อ ต้องเสียเวลาป้อนเป็นชั่วโมงล่ะก็ แปลว่าเด็กไม่ได้ชอบอาหารนั้น หรือไม่ก็เพราะเค้ายังไม่หิวจริง ๆ

         ดังนั้น ถ้าคุณแม่ป้อนอาหารให้เขากินครึ่งชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ควรป้อนต่อไปอีก เพราะนอกจากจะเสียเวลาเปล่า ๆ แล้ว ยังทำให้เค้าเคยชินกับการถูกคุณแม่ป้อนอาหารไป เล่นไป ไปจนโตค่ะ

เรื่อง : ณ ลันดา
แหล่งที่มา   M&C แม่และเด็ก / กระปุก
เครดิตภาพ  http://ink361.com/app/users/ig-1601649016/baby.pix/photos/ig-1149200848488679000_1601649016

No comments:

Post a Comment