Tuesday, July 29, 2014

4 สไตล์การนอนของเบบี๋





         เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยต่างกัน และมีธรรมชิตการนอนที่ต่างกัน เช่น เด็กบางคนนอนไม่นาน แต่นอนบ่อย เป็นเด็กตื่นเช้า เป็นเด็กตื่นง่าย เป็นต้น ทารกส่วนใหญ่จะนอนหลับครั้งละสั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนกระทั่งอายุ 9-10 เดือนจึงจะนอนได้ยาวกว่านี้ แต่ถ้าเด็กน้อยมีลักษณะการนอนที่ต่างไปจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหาทางรับมือ และปรับการนอนของลูกให้สมดุลค่ะ เรามาทำความรู้จัก 4 สไตล์การนอนของทารกกันดีกว่าค่ะ

งีบแบบแมว

         เด็กบางคนนอนแค่สั้น ๆ ประมาณครั้งละ 30-45 นาที นอกจากนอนไม่นานแล้วเวลาในการหลับแต่ละครั้งก็ไม่แน่นอนสั้นยาวไม่เท่ากันด้วย

         Solution : เด็กที่นอนบ่อย ๆ ครั้งละสั้น ๆ จะตื่นได้นานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมงจึงจะถึงเวลาหลับครั้งต่อไป ดังนั้นควรให้ลูกนอนหลับเป็นเวลามากขึ้น อาจใช้วิธีปลุกลูกให้ตื่นในตอนเช้าเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น ปลุกลูกตอน 7 โมงเช้าทุกวัน และพยายามให้ลูกนอนหลับครั้งต่อไปในอีก 2 ชั่วโมงถัดไป พยายามให้ลูกนอนเป็นเวลาในแต่ละวัน เทคนิคสำคัญคือ เอาลูกเข้านอนโดยไม่ต้องรอให้ลูกง่วงจนขยี้ตา หรืองอแงเพราะง่วง เนื่องจากส่วนใหญ่ทารกจะเหนื่อย และอยากงีบหลับก่อนที่จะส่งสัญญาณต่าง ๆ ออกมาอยู่แล้ว

 ตื่นแต่เช้า

         เด็กบางคนนอนได้ยาวตลอดคืน แต่ตื่นเช้ามาก เช่น ตื่นมาตอนตี 4 หรือตี 5 จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่เหนื่อยไปตาม ๆ กันที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดพร้อมกับลูกน้อย

         Solution : ถ้า คุณพ่อคุณแม่พาลูกเข้านอนตอน 6 โมงเย็น หรือ 1 ทุ่ม เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับลูกน้อยที่จะตื่นขึ้นมาตอนตี 5 หรือ 6 โมงเช้า หากอยากให้ลูกตื่นสายขึ้นลองพาลูกเข้านอนช้ากว่านั้นสัก 15-30 นาที อาจช่วยให้ลูกตื่นสายขึ้นได้บ้าง แต่ถ้ายังไม่ช่วยอะไรแสดงว่าลูกเป็นเด็กตื่นเช้าโดยธรรมชาติ หรืออาจใช้เทคนิคทำราวกับว่านี่คือการตื่นมาตอนกลางคืน คือคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเปิดไฟให้สว่าง และพยายามกล่อมให้ลูกหลับต่ออีกสักพัก

ตื่นง่าย

         เด็กน้อยบางคนไม่มีปัญหาในการหลับ แต่รู้สึกตัวตื่นง่ายมาก แม้กระทั่งเสียงคุณแม่ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้ดังมาก เสียงแตรรถยนต์ หรือแสงที่ส่องเข้ามาในที่นอนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ลูกตื่นขึ้นมาได้แล้ว

         Solution : ปกติ เด็กทารกมักจะรู้สึกตัวตื่นสั้น ๆ ไม่กี่นาทีระหว่างที่นอนหลับ แล้วก็สามารถหลับต่อได้เอง แต่สำหรับเด็กน้อยที่รู้สึกตัวตื่นได้ง่ายมาก คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะหลับต่อไปด้วยตนเอง ไม่ควรเข้าไปโอ๋ลูกหรืออุ้มขึ้นมาทันที และสำหรับเด็กตื่นง่าย ควรจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ลูกนอนหลับได้ลึก ห้องนอนลูกควรมืดสนิท อุณหภูมิอบอุ่นพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป อาจลองใช้เสียงเพลงบรรเลงเบา ๆ เพื่อกล่อมลูก และใช้เป็นเสียงเพื่อป้องกันเสียงดังรบกวนจากภายนอก

นอนยาก

         เด็กบางคนนอนหลับยากมาก ไม่ยอมนอนหลับ บนที่นอนของตัวเอง นอนหลับไม่เป็นเวลา เมื่อไม่ยอมนอน ก็มักจะไปง่วงหลับบนคาร์ซีท หรือหลับในเวลาที่ไม่ควรหลับ แต่ทำอย่างไรก็ไม่ค่อยยอมนอนหลับในที่นอนของตนเอง เด็กหลับยากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่สร้างเงื่อนไขในการนอนหลับตั้งแต่แรก เช่น จะต้องอุ้มลูกโยกไปมาทุกครั้งเพื่อให้นอนหลับ เด็กน้อยก็จะจดจำว่าต้องอุ้มเท่านั้นจึงจะนอนหลับ ส่งผลทำให้เด็กนอนหลับได้ยาก

         Solution : ถ้า อยากให้ลูกน้อยนอนหลับได้ ในที่นอนของตนเอง ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วันนี้ อาจใช้ตัวช่วยเป็นสิ่งของที่ลูกชอบ เช่น ของเล่นชิ้นโปรด ตุ๊กตาตัวโปรด หรือเสื้อยืดตัวเก่าของคุณแม่ วางไว้ในที่นอนเพื่อให้ลูกนอนหลับในที่นอนของตนเองได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกันเด็กน้อยบางคนหลับที่อื่นไม่ได้เลยนอกจากหลับในที่นอนของตนเอง เด็กแบบนี้อาจจะเลี้ยงง่ายเมื่ออยู่บ้าน แต่อาจเป็นปัญหาเมื่อต้องเดินทางไปพักที่อื่น หรือจำเป็นต้องไปนอนที่อื่น แม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่ลูกนอนหลับง่ายและนอนหลับเป็นเวลา แต่เพื่อฝึกให้ลูกมีความยืดหยุ่นในการนอนก่อนเดินทางสัก 1 สัปดาห์ อาจจะมี 1-2 วันที่ให้ลูกงีบหลับช่วงเช้ายาวหน่อย แล้วไม่ต้องนอนหลับในช่วงบ่าย หรือถ้าจำเป็นต้องออกไปข้างนอก และไม่อยากให้ลูกหลับบนรถจนผิดเวลานอนแล้วกลับมาบ้านไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่อาจจะพยายามกระตุ้นให้ลูกตื่น ด้วยการพูดคุยเล่นกับลูก ร้องเพลง หรือเปิดซีดีเพลงสนุก ๆ ให้ลูกฟังแล้วค่อยให้กลับมานอนสบายที่บ้านค่ะ

          การเข้าใจธรรมชาติการนอนโดยปกติทั่วไปของเด็กวัยนี้ และลักษณะการนอนในแบบเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน จะช่วยไว้คุณพ่อคุณแม่จัดการกับพฤติกรรมการนอนของลูกให้เหมาะสมลงตัว จัดสมดุลการนอนของลูกให้มีคุณภาพเพื่อให้ลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีพัฒนาการนอนที่ดีต่อไปเมื่อลูกโตขึ้นค่ะ

เรื่อง : Jan B.
แหล่งที่มา  modernmom, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment