Tuesday, February 9, 2016

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่มีความสุข



คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยวางรากฐานชีวิตที่มีความสุขให้กับ ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก
แม้ว่าคุณ พ่อคุณแม่มักจะเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ ให้เขามีสุขภาพที่ดี และคอยดูแลให้ความรักความอบอุ่น แต่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความสุขหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กกล่าวว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถ มอบความสุขให้ลูกได้ในแบบเดียวกับการมอบของขวัญที่ห่ออย่าง สวยงาม Edward Hallowell จิตแพทย์และผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Childhood Roots of Adult Happiness" กล่าวว่า ในความเป็นจริงเด็กที่ถูกตามใจมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการได้รับของเล่นมากมาย หรือได้รับการปกป้องมากเกินไปจากสิ่งรบกวนทางอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะโตมาเป็นวัยรุ่นที่ขี้เบื่อหน่าย ชอบพูดจาถากถาง และไม่มีความสุข "สิ่งที่ใช้การันตีความสุขของเด็กๆ ได้ดีที่สุดนั้นอยู่ที่ปัจจัยภายใน ไม่ใช่ภายนอก" Hallowell กล่าวโดยเน้นถึงความสำคัญของการช่วยให้ลูกพัฒนาเครื่องมือภายในตัวและจิตใจ ของเขา ที่เขาจะสามารถพึ่งพาได้ตลอดทั้งชีวิต

คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก หรอกนะคะ เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทนและยืดหยุ่นเพียงพอในการที่จะค่อยๆปลูกฝังความ แข็งแกร่งภายใน และความชาญฉลาดหรือปัญญาที่จำเป็นต่อลูกน้อยในการจัดการกับความแปรปรวนขึ้น ลงต่างๆ ในชีวิตของเขา เพียงเท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถวางรากฐานชีวิตที่มีความสุขให้กับลูกน้อย ได้ค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ที่จะอ่าน สัญญาณบอกเหตุ

 
เมื่อลูกน้อยเติบโตจากทารกแบเบาะเป็นเด็กที่ สามารถแสดงออกหรือเล่นได้มากขึ้นในช่วง 6 เดือน เขาจะมีวิธีแสดงให้คุณแม่รู้ว่ากำลังมีอะไรที่ทำให้เขามีความสุขหรือทำให้ เขาไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มนางฟ้าสดใสบนใบหน้าของเขาเมื่อเห็นคุณ หรือร้องไห้โยเยเมื่อมีใครเอาของเล่นหรือผ้าห่มผืนโปรดไป ในบางครั้งลูกน้อยยังสามารถเปลี่ยนจากยิ้มร่าไปเป็นร้องไห้งอแงได้ง่ายๆ อีกด้วย

จากข้อมูลของ Lise Eliot นักประสาทวิทยาสำหรับเด็ก และผู้แต่งหนังสือเรื่อง "What's Going On in There? How the Brain and Mind Develop in the First Five Years of Life" พบว่าทารกเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสมองส่วนสำคัญในระบบประสาทส่วนกลาง (celebral cortex) ที่ใช้ควบคุมอาการตอบสนองต่างๆ นั้นยังทำงานได้น้อยมาก เมื่อสมองส่วนนี้พัฒนามากขึ้นในปีต่อๆมา ลูกน้อยของคุณก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ได้ดีขึ้น

ถ้าลูกน้อยของคุณดูจะร้องไห้โยเยมากกว่า หัวเราะคิกคัก นั่นเป็นเพราะเด็กทารกมักสัมผัสสิ่งที่รบกวนจิตใจได้เร็วกว่าความสุข จึงแสดงสีหน้าร้องไห้และเจ็บปวดออกมา คุณ Eliot อธิบายว่าอาการเหล่านี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณ SOS เพื่อกระตุ้นคนเลี้ยงให้แก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นนั่นเอง

แต่ถ้าลูกน้อยกำลังร้องไห้ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเขากำลังเจ็บปวด หิว หรือเบื่อ? "คุณแม่ที่ความรู้สึกไวจะสามารถแยกความแตกต่างของลักษณะเสียงร้องและการ แสดงออกทางสีหน้าได้" Paul C. Holinger ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งศูนย์การแพทย์ ของ Rush-Presbyterian-St. Luke ในชิคาโกกล่าว "คิ้ว ปาก และการเปล่งเสียงของลูก ทุกอย่างล้วนเป็นระบบที่ใช้ในการส่งสัญญาณของทารก"
 
ตัวอย่าง เช่น เด็กที่กำลังเจ็บปวดทางร่างกายจะร้องไห้โดยมุมปากโค้งลง และคิ้วทั้ง 2 ข้างจะโค้งตรงกลาง แต่ถ้าร้องไห้เพราะโกรธ หน้าของเขาจะแดง คิ้วตกลง กัดกรามแน่น และอาจส่งเสียงดังไม่พอใจ พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้ว่า เด็กที่ขี้กลัวและอารมณ์เสียง่ายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข แต่ศาสตราจารย์ Holinger พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มักไม่ทันคิดว่าความโกรธนั้นก็เป็นผลจากการต้องเผชิญ หรือได้รับสิ่งรบกวนนั้นๆ มากเกินไป "เมื่อได้ยินเสียงดังหรือเห็นแสงสว่างจ้า เด็กจะแสดงสัญญาณของความไม่สบายกายสบายใจออกมา และถ้ายังมีเสียงดังหรือแสงสว่างนั้นเพิ่มขึ้น อารมณ์ของเด็กก็จะเปลี่ยนเป็นโกรธได้"

Carrie Masia-Warner นักจิตวิทยาเด็กและผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านความกังวลและความผิด ปกติทางอารมณ์ จาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เตือนว่าไม่ควรพยายามอ่านอารมณ์ของลูกให้มากจนเกินไป "เราไม่ควรมองว่าเด็กมีความสุขหรือไม่มีความสุข เพราะเขาเพียงแค่พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจบางสิ่งบางอย่างในสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้น"

แม้ว่าทารกแรกเกิดจะไม่ได้รู้สึกมีความสุขจริงๆ เมื่อพวกเขาดูท่าทางมีความสุขก็ตาม แต่เรื่องดีก็คือว่าเขาก็ไม่ได้รับรู้หรือรู้สึกอะไรเช่นกันเมื่อพวกเขากรีด ร้องขึ้นมา คุณ Eliot อธิบายต่อว่า สมองส่วนที่เรียกว่า "Cortical Emotion Centers" ของเด็กทารกจะยังไม่ทำงานจนกว่าเขาจะเข้าสู่วัย 6-8 เดือน ซึ่งเขาจะเริ่มมีอารมณ์ตามที่เขาแสดงออกให้เห็นบนใบหน้า

ลูกน้อยของคุณจะมีวิธีการของตัวเองในการแสดงให้คุณรู้ว่าเขา กำลังไม่พอใจ เด็กบางคนอาจจะร้องไห้ ขณะที่เด็กบางคนจะเกาะติดคุณพ่อคุณแม่ เมื่อคุณเริ่มรู้จักอารมณ์ของลูก คุณจะเข้าใจแต่ละสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอะไรไม่ปกติเกิดขึ้นกับเขา และจัดการกับปัญหานั้นได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

อย่าลืมให้เวลากับความสนุก

 
แม้ว่าโมบายสีสวยที่ห้อยอยู่เหนือเตียง หรือรสชาติแสนอร่อยของกล้วยบดคำแรกอาจทำให้ลูกน้อยมีรอยยิ้มได้
 

แต่ สิ่งที่ง่ายและสำคัญที่สุดในการทำให้ลูกน้อยมีความสุขก็คือตัวคุณพ่อคุณแม่ นั่นเองนะคะ คุณพ่อคุณแม่เป็นพื้นฐานสำคัญอันดับแรกในการสร้างเด็กที่มีความสุข ศาสตราจารย์ Hallowell แนะนำให้คณพ่อคุณแม่ "เล่นกับลูกน้อยบ่อยๆ สร้างสายสัมพันธ์กับเขา เมื่อคุณรู้สึกสนุกในการเล่นกับลูก ลูกก็จะสนุกไปด้วย ประสบการณ์และความทรงจำที่ดีในวัยเด็กนับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการการันตี ว่าลูกน้อยจะโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความสุข"

การเล่นไม่เพียงทำให้เขาสนุกเท่านั้น การปล่อยให้เขาเล่นอย่างอิสระ สร้างสรรค์ ยังเป็นการช่วยให้เขาค้นพบสิ่งที่เขารักที่จะทำอย่างมีความสุขในอนาคตได้ ด้วยนะคะ เช่น การสร้างเมืองในจินตนาการด้วยบล็อค, การปรุงยาวิเศษจากเครื่องปรุงในครัว, หรือการระบายสีน้ำ อาจสามารถชี้ให้เห็นอาชีพที่น่าจะทำให้เขามีความสุขเหมือนได้เล่นอยู่ตลอด เวลาอีกด้วยค่ะ

การช่วยลูกน้อยพัฒนาพรสวรรค์ในตัว

 
คำอธิบายของศาสตราจารย์ Hallowell เกี่ยว กับการสร้างความสุขอย่างยั่งยืนนั้น รวมถึงการรับมือกับเหตุการณ์พลิกผันหรือไม่คาดคิดด้วยนะคะ คนที่มีความสุขมักเป็นคนที่สามารถควบคุมตนเองได้ในสถานการณ์ต่างๆ ในกรณีของลูกน้อย เขาสามารถค้นพบวิธีเอาช้อนเข้าปาก หรือเดินเตาะแตะด้วยตนเองได้ ก็เนื่องจากเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดหลายๆครั้ง เรียนรู้เรื่องความพยายามตั้งใจแน่วแน่และการรู้จักควบคุมตน จนในที่สุดก็ได้สัมผัสกับความสุขที่มาจากความสำเร็จและความพยายามของเขาเอง

นอกจากนั้น เมื่อลูกน้อยทำอะไรสำเร็จ เขายังเก็บเกี่ยวการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นมาเป็นรางวัลอีกด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเขาค้นพบว่าเขาสามารถควบคุมชีวิตของเขาได้เอง ถ้าเพียงเขามีความตั้งใจก็จะสามารถทำมันได้ในที่สุด งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การตระหนักถึงความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสุขในชีวิตเมื่อเขาเป็น ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเวลาที่เขาได้ทำในสิ่งเขาสนใจ เขาก็จะยิ่งมีความสุขมากเมื่อเขาทำมันได้สำเร็จ

สุขภาพดี หนูก็มีความสุข

 
การนอนหลับอย่างเพียงพอ ออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์นั้นจำเป็นต่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อยนะคะ การหาพื้นที่ให้เขาได้เล่นปลดปล่อยพลังงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเตะขาในอากาศ คลานเล่นกับลูกบอลลูกโปรด เดินเตาะแตะไปมา ก็ช่วยทำให้ลูกน้อยมีอารมณ์ดีได้ คุณแม่ควรคอยสังเกตว่ารูปแบบการเล่นแบบไหนที่เหมาะกับลูกของคุณ เช่น เด็กบางคนอาจชอบเล่นไปเรื่อยๆ ง่ายๆ สบายๆ ในขณะที่เด็กบางคนกลับรู้สึกอุ่นใจมากกว่าหากได้เล่นตามตารางเวลาที่กำหนด ไว้

คุณแม่ควรเอาใจใส่กับผลของ อาหารประเภทที่มีต่ออารมณ์ของลูกน้อยด้วยนะคะ บางท่านพบว่า น้ำตาลช่วยเติมพลังให้ลูกน้อย แต่ก็อาจมีผลทำให้เขาขี้หงุดหงิดได้ด้วย นอกจากนี้ การแพ้อาหารและความไวต่ออาหารก็อาจมีบทบาทต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกน้อย เช่นกันนะคะ ถ้าคุณยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ อาจพบว่าลูกมักจะขี้หงุดหงิดเอาใจยากเมื่อคุณแม่รับประทานอาหารบางประเภท ให้คุณแม่ลองปรึกษาคุณหมอของลูกน้อยดูนะคะหากสงสัยว่านมผงหรืออาหารบางชนิด อาจส่งผลต่ออารมณ์ของลูกน้อย

ปล่อยให้ลูกต่อสู้กับปัญหาด้วยตนเอง

 
ช่วง 6 เดือนแรกนั้น คุณแม่จำเป็นจะต้องตามใจทารกน้อยในทุกสิ่งที่เขาต้องการ คุณแม่ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้เขาเอาแต่ใจ เพราะทารกน้อยวัยนี้ยังไม่รู้เรื่องพอ แต่หลังจากเขาอายุ 6 เดือนไปแล้ว ถ้าคุณยังคงวิ่งมาดูแลเขา เช่น ทุกครั้งที่เขาเกิดสะอึกนิดหน่อย ทราบไหมคะว่า คุณแม่กำลังพรากโอกาสในการเรียนรู้ที่สำคัญของเขาไปนะคะ Masia-Warner กล่าวว่า ควรปล่อยให้ลูกน้อยร้องไห้บ้าง ตราบเท่าที่คุณยังคงให้ความรักความเอาใจใส่แก่เขามากๆ ในเวลาอื่นๆ

แต่คุณอาจจะเถียงว่า ฉันกำลังเลี้ยงเด็กให้มีความสุขนะ! ฉันไม่ควรวิ่งไปดูและทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรอกหรือ? ในความเป็นจริงแล้ว Masia-Warner เห็นว่านี่คือข้อผิดพลาดใหญ่หลวงที่พ่อแม่มักจะสร้างขึ้น "พ่อแม่หลายคนชอบเข้าจัดการปัญหาทุกๆ อย่างของลูกน้อยเพราะอยากเห็นเขามีความสุขตลอดเวลา แต่โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น" Masia-Warner กล่าวอีกว่า "อย่าพยายามกระโดดลงไปและแก้ไขปัญหาให้ลูกตลอดเวลา เพราะเด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอดทนกับสิ่งต่างๆ รวมถึงความรู้สึกเศร้า ไม่แฮปปี้ คุณแม่จึงควรปล่อยให้ลูกดิ้นรนหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองบ้าง จะช่วยให้เขาเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน"

ในช่วงขวบปีแรกของ ลูก เขาจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย เช่น การนั่ง คลาน หยิบจับสิ่งของ เดิน และพูดคุย ความสำเร็จแต่ละขั้นทำให้เขาเกิดความมั่นใจและมีความสุข ดังนั้น คุณไม่ควรรีบไปช่วยหยิบของเล่นที่ลูกเพิ่งทำหล่น หรือตุ๊กตาหมีที่ลูกพยายามจะคลานเข้าไปหา แต่ควรให้เวลาเขาได้ทำอะไรด้วยตัวเองและคอยอยู่เป็นกำลังใจให้เขาจะดีกว่านะคะ

ศจ. Hallowell เห็นด้วยว่า การปล่อยให้ลูกมีประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากลำบากหรืออาจทำให้เขาหงุดหงิด ระคายเคืองใจบ้าง จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในที่นำไปสู่ความสุขได้ ไม่ว่าลูกของคุณจะอายุ 7 เดือนและพยายามจะคลาน หรืออายุ 7 ปีที่กำลังต่อสู้กับการบวกลบเลข เขาก็จะสามารถจัดการกับอุปสรรคเหล่านั้นได้โดยการต่อสู้กับมันซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสำเร็จ

ปล่อยให้ลูก เศร้าหรือโมโหบ้าง

 
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น คุณสามารถสอนให้เขารู้จักชื่อเรียกของแต่ละอารมณ์ที่เขารู้สึก ตัวอย่างเช่น คุณแม่สามารถเริ่มตั้งแต่ก่อนที่เขาจะพูดได้ โดยนำรูปใบหน้าแบบต่างๆ มาให้ลูกดู และถามเขาว่าใบหน้าแบบไหนที่กำลังรู้สึกเหมือนกับเขาตอนนี้ ซึ่งลูกน้อยมักจะสามารถเรียนรู้คำที่บ่งบอกอารมณ์แสดงออกชัดเจน เช่น "สนุก" หรือ "โกรธ" ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อลูกสามารถโยงคำเข้ากับอารมณ์ของเขาได้แล้ว ก็จะค่อยๆพัฒนาความสามารถใหม่ในการเข้าใจความรู้สึกและควบคุมอารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น
 
ที่สำคัญ คุณแม่ไม่ควรกลุ้มใจมากเกินไปเมื่อลูกแสดงความรู้สึกในด้านลบออกมานะคะ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆ จะอารมณ์อ่อนไหว หรือเซนซิทีฟเป็นพิเศษ เขาอาจจะเกาะติดพ่อแม่ หรือตื่นตูมไปกับสิ่งต่างๆ ได้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความสุขหรอกค่ะ ข้อนี้สำคัญมากนะคะโดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น เช่น เวลาเห็นเค้านั่งทำหน้ามุ่ยอยู่มุมห้องในระหว่างงานเลี้ยงวันเกิด ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของคุณก็คือเข้าไปชวนให้เขาออกมาเล่นสนุกกัน แต่ทราบไหมคะว่า มันสำคัญมากที่จะปล่อยให้เขาได้สัมผัสกับความรู้สึกไม่มีความสุขบ้าง

"พ่อ แม่หลายท่านมักกังวลหรือห่วง เวลาที่เห็นลูกเศร้าหลังจากถูกปฏิเสธเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่ได้ถูกชวนไปงานวันเกิดเพื่อน หรือร้องไห้เพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ" แต่เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้นะคะว่า บางครั้งชีวิตก็ย่อมไม่มีความสุขบ้าง และถ้าคุณพ่อคุณแม่พยายามไปปิดกั้นสิ่งเหล่านั้น ก็อาจเป็นการทำให้ลูกคิดว่าการรู้สึกเศร้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี คุณจึงควรต้องปล่อยให้ลูกได้สัมผัสกับความรู้สึกต่างๆ ของตัวเอง ซึ่งก็รวมถึงความเศร้าด้วยค่ะ

เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

 
Dora Wang ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่ง University of New Mexico School of Medicine และเป็นคุณแม่ของลูกสาววัย 3 ขวบ กล่าวว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า คุณแม่สามารถส่งผ่านอารมณ์ของตัวเองไปสู่ลูกได้ แม้ไม่ใช่ทางพันธุกรรม แต่ผ่านทางพฤติกรรมของคุณและวิธีในการเลี้ยงดูลูก

เด็กๆ สามารถเรียนรู้อารมณ์ของพ่อแม่ได้ แม้แต่เด็กทารกเล็กๆ ก็ยังสามารถเลียนแบบอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณยิ้ม ลูกก็จะยิ้มตาม ในทำนองเดียวกัน ถ้าลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้ก็คือใจเย็นๆ และสงบเข้าไว้นะคะ เพราะลูกจะรู้สึกถึงความเครียดของคนเลี้ยงได้ค่ะ

แน่นอนว่า การเลี้ยงดูลูกน้อยอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยและ วุ่นวาย แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกเครียด หดหู่ หรือซึมเศร้าเป็นประจำ ก็ควรรีบปรึกษาคุณหมอนะคะ "พ่อแม่ที่มีแนวโน้มว่าจะหดหู่ มักจะไม่สามารถอยู่ในระเบียบวินัยหรือกำหนดรูปแบบในการเลี้ยงดูลูกน้อยได้ รวมถึงไม่สามารถพูดชมเชยหรือเล่นสนุกกับลูกน้อยอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนให้เกิดปัญหาทางอารมณ์" Masia-Warner นักจิตวิทยาเด็กกล่าว

สอนให้ลูกรู้จักความสุข จากการทำในสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้อื่น

 
เมื่อ ลูกของคุณโตพอ คุณสามารถสอนให้ลูกรู้ถึงความสุขจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นผ่านบทเรียนประจำ วันเล็กๆ น้อยๆ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า คนที่มีจุดหมายในชีวิตจะรู้สึกหดหู่น้อยกว่า Sharon กล่าวว่าการกุศลและการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของครอบครัวของ เธอ แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ได้ประโยชน์จากบทเรียนนี้ หลังจากเรียนเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่า ลูกสาววัย 5 ขวบของ Cohn ที่ชื่อ Rebecca และเพื่อนร่วมชั้นช่วยกันรวบรวมอุปกรณ์การเรียนและกระเป๋าเพื่อบริจาคให้กับ คนที่สูญเสียสิ่งเหล่านี้

แม้ลูกน้อยจะมีอายุเพียงแค่ 10 เดือน คุณก็สามารถสอนให้ลูกรู้จักความสุขจากการเป็นผู้ให้และผู้รับได้ เช่น ถ้าคุณให้ลูกกัดกล้วยหนึ่งคำ ลองให้เขาทำเหมือนกันโดยป้อนกล้วยให้คุณคืนหนึ่งคำบ้าง แสดงให้เขาเห็นว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเขาทำให้คุณมีความสุขมากแค่ไหน ถ้าคุณหวีผมให้ลูก ก็ปล่อยให้เธอหวีผมให้คุณบ้าง ช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สามารถทำให้ลูกน้อยค่อยๆ รู้จักแบ่งปันและใส่ใจต่อผู้อื่น เมื่อลูกน้อยของคุณเติบโตขึ้น การให้เขาทำงานบ้านง่ายๆ เช่น การนำเสื้อที่ใส่แล้วของตนเองไปใส่ในตะกร้าผ้า หรือการช่วยจัดโต๊ะอาหาร ก็สามารถทำให้ลูกน้อยมีความสุขที่ได้แบ่งปันและทำประโยชน์ให้กับคนอื่น

 

แหล่งข้อมูลที่มา  :  momyweb.com  /  babytalk.yahoo.com

เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/explore/first-birthday-tutu/

No comments:

Post a Comment