Saturday, February 27, 2016

ภูมิแพ้อากาศ ป้องกันและดูแลลูกอย่างไรดี ?




      ภูมิแพ้ในเด็กป้องกัน อย่างไรให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคยอดฮิต วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้และวิธีป้องกันจากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ ส่วนสาเหตุของโรคภูมิแพ้นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้อากาศ เรารวบรวมคำตอบและวิธีป้องกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันแล้วค่ะ

          ความชุกของโรคภูมิแพ้นั้นมีเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก และในประเทศไทยที่เคยมีการศึกษากันมา พบว่าโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ พบได้บ่อยที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 50 ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จนเป็นปัญหาต่อกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีผลกระทบกับการนอน ทำให้มีปัญหาการเจ็บป่วย รู้สึกรำคาญ และทำให้ขาดเรียนหรือขาดงานได้บ่อย จึงทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลง

          ผู้ที่เป็นเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีปัญหาที่พบร่วมด้วย ได้แก่ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด แก้วหูอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ปัญหาเรื่องการพูด การนอนกรนเสียงดัง เนื่องจากมีการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีการหายใจทางปากเกือบตลอดเวลา จนทำให้เกิดความผิดปกติของโครงหน้าและการสบของฟัน โดยเฉพาะถ้าเริ่มมีอาการในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ

          สาเหตุของโรคภูมิแพ้นั้นเกิดจากเรื่องของพันธุกรรมและการได้รับสารก่อภูมิแพ้ กระตุ้นให้เกิดโรค ในประเทศไทยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ๆ คือไรฝุ่น ซากแมลงสาบ รังแคแมว สุนัข ละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า เชื้อรา เป็นต้น อายุที่เริ่มมีอาการแพ้อากาศมักพบในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไป โดยมีอาการจาม คันจมูก คันตา น้ำมูกไหลใส ๆ คัดจมูกจนต้องอ้าปากหายใจ เลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ เป็นต้น ความแตกต่างของอาการภูมิแพ้กับการติดเชื้อนั้นต่างกันตามตาราง ดังนี้

          การดูแลเมื่อลูกเป็นภูมิแพ้อากาศ สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไปสัมผัสกับสาร ก่อภูมิแพ้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการถูกกระตุ้นและทำให้พัฒนาไปเป็นโรคหอบหืดและภูมิ แพ้อื่น ๆ สำหรับคำแนะนำโดยทั่วไปให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

1. ป้องกันการสัมผัสกับไรฝุ่น

          การ ลดการสัมผัสกับตัวไรฝุ่นจะทำให้มีการถูกกระตุ้นได้น้อยลง แต่บางพื้นที่ที่มีปริมาณตัวไรอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกัน วิธีการลดการสัมผัส คือ

         ทำความสะอาดเครื่องนอนทุกสัปดาห์ด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียส

         ใช้ปลอกหมอนและปลอกที่นอนแบบป้องกันไรฝุ่น

         ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดแบบสุญญากาศที่มีระบบกรองแบบ High-efficiency Particulate Air (HEPA)

         การใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันสามารถลดการสัมผัสตัวไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่แพ้ตัวไร

2. ป้องกันการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง

          ดีที่สุดในการลดการสัมผัสก็คือ การนำสุนัขหรือแมวออกไปไว้ที่อื่น ถ้าไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงออกไปได้ อาจลดการสัมผัสได้โดย

         ไม่ควรนำมาไว้ในห้องนอน

         อาบน้ำให้อย่างน้อยทุกอาทิตย์

         ควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีระบบ HEPA

         จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

         ควรใช้ปลอกหมอนและปลอกที่นอนที่ผิวผ้ามีขนาดรูเล็กกว่า 6 ไมครอน

3. ป้องกันการสัมผัสกับซากแมลงสาบ

          ลดการสัมผัสกับซากแมลงสาบทำให้ลดการกระตุ้นให้เกิดการแพ้โดยมีวิธีการดังนี้ คือ

         ปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของแมลงสาบ เช่น เศษอาหาร ความชื้น

         การใช้แผ่นดักจับแมลงสาบในการเฝ้าระวังปริมาณแมลงสาบ

         การใช้ยาฆ่าแมลง เช่น imidacloprid ควรใช้อย่างระมัดระวัง และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

         กรดบอริกเป็นยาฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามแมลงสาบที่รอดชีวิตจากการสัมผัสกับกรดบอริกอาจทำให้เกิดสาร ก่อภูมิแพ้ได้มากขึ้น

         อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนกับแมลงสาบควรกำจัดออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสของผู้อยู่อาศัยในบ้าน

          การใช้วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

4. ป้องกันการสัมผัสกับควันบุหรี่

          หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด

          ไม่ควรให้เด็กได้สัมผัสกับควันบุหรี่ เนื่องจากมีหลักฐานจากการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า


         มารดาที่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์มีผลต่อการพัฒนาปอดของทารก

         เด็กเล็ก ๆ ที่มีอาการหลอดลมตีบเมื่อป่วย มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ในพ่อแม่

         การได้สัมผัสกับสารระคายเคืองในบ้าน ทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้

          การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทุกวันก่อนอาบน้ำตอนเย็น จะช่วยให้กำจัดสารก่อภูมิแพ้ในจมูออกได้บ้าง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
MODERNMOM
Vol.21 No.242 ธันวาคม 2558
http://baby.kapook.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/368802656961211914/

No comments:

Post a Comment