Saturday, December 20, 2014

8 เทคนิคสอนลูกให้ใช้เงินเป็น




ลูกนับว่าเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ทุกคน การจะเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่และประสบความสำเร็จต้องอาศัยการสั่งสอนในหลายๆ เรื่อง และเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยคือ การสอนลูกให้ใช้เงินเป็น เพราะในอนาคตเมื่อลูกเติบโตขึ้น แต่ไม่รู้จักวิธีใช้หรือบริหารเงินที่ถูกต้อง เงินที่มีอยู่ก็มีโอกาสที่จะลดลงได้ง่าย เราจึงนำ 8 เทคนิคง่ายๆ เพื่อสอนเรื่องการใช้เงินเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ

1) ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
 

เทคนิคในการจัดการเงินทองขั้นตอนแรกที่พ่อแม่ควรสอนลูกคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้ว่า เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เช่น ค่าขนม ค่าอาหาร หรือค่าเดินทาง หากเงินที่ได้รับในแต่ละวันไม่พอใช้จ่าย บัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้ทราบว่า ควรปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนใด เพื่อให้เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นค่ะ


2. ออมก่อนใช้  

เมื่อได้รับเงินค่าขนม เด็กๆ มักจะใช้เงินที่มีจนหมด และไม่เหลือเก็บออม การสอนให้ลูกออมเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการออมของลูกได้ ยกตัวอย่างเช่น หากลูกอยากได้จักรยานราคา 1,500 บาท พ่อแม่ควรสอนให้ลูกออมเงิน โดยวิธีการออมที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นคือ การตั้งเป้าหมายและออมก่อนใช้ เช่น ลูกได้รับเงินค่าขนมสัปดาห์ละ 300 บาท การหักเงินเพื่อออมสำหรับค่าจักรยาน ก่อนใช้จ่ายสัปดาห์ละ 30 บาท จะช่วยให้ลูกสามารถออมเพื่อจักรยานได้ภายใน 1 ปี ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับของที่ซื้อได้ด้วยเงินเก็บของตัวเอง




3. ซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น
 
ของเล่นกับเด็กมักเป็นของคู่กัน บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักใจอ่อนเมื่อลูกร้องขอให้ซื้อของเล่นที่ตนอยากได้ การซื้อของเล่นให้เป็นประจำจะทำให้ลูกไม่รู้จักค่าของเงิน และอาจสร้างนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้เกิดขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การปฏิเสธคำขอร้องให้ซื้อของเล่นและอธิบายถึงการใช้เงินในการซื้อของที่จำ เป็นจะช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถให้ของเล่นเป็นรางวัลให้กับลูกในการทำความดีต่างๆ เช่น สอบได้คะแนนดี หรือช่วยทำงานบ้าน เพื่อให้ลูกรู้จักถึงคุณค่าของการทำความดีและรู้ถึงคุณค่าของของเล่นที่ได้รับ

4. อย่าซื้อสินค้าเพราะของแถม
 
สติ๊กเกอร์ ของเล่น หรือตุ๊กตา ของแถมเหล่านี้มักล่อใจให้เด็กๆ ซื้อขนมเกินความจำเป็น บางคนถึงขนาดทิ้งขนมเพื่อเอาแต่ของแถมเลยก็มี พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกอย่าซื้อขนมเพื่อของแถม เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่สิ้นเปลือง โดยควรเก็บเงินที่จะซื้อขนมพ่วงของแถมมาออมเพื่อซื้อของเล่นชิ้นใหญ่จะดีกว่า

5. รู้จักการซื้อของแบบปลีกและส่ง
 
เทคนิคในการเลือกซื้อของอย่างง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถแนะนำให้ลูกทำได้คือ การซื้อของแบบหลายชิ้นหรือยกโหลจะได้ราคาต่อชิ้น ที่ถูกกว่าการซื้อแบบชิ้นเดียว โดยเทคนิคนี้จะใช้ได้ดีกับสินค้าที่เราใช้เป็นประจำเป็นจำนวนมากเช่น ดินสอ สมุด เป็นต้น สมมติ ดินสอราคาแท่งละ 5 บาท ซื้อยกโหล จะได้ราคาโหลละ 50 บาท หากใช้ดินสอเดือนละ 5 แท่ง พ่อแม่ควรซื้อแบบยกโหล เพราะใช้เพียง 2 เดือนครึ่ง ดินสอ 1 โหลก็จะหมดไป และจะช่วยให้ประหยัดเงินได้โหลละ 10 บาท อย่างไรก็ดี ของบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยกโหล เพราะมีอายุการใช้งานที่นาน เช่น ยางลบหรือไม้บรรทัด การซื้อแบบยกโหลอาจทำให้ซื้อของมามากเกินความจำเป็นได้

6. ซื้อสดดีกว่าซื้อผ่อน
 
นอกจากจะได้ราคาสินค้าที่ถูกกว่าแล้ว ยังไม่ต้องเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินไหนอีกด้วย ผิดกับการซื้อด้วยเงินผ่อนที่ราคามักจะสูงกว่าการซื้อด้วยเงินสด เพราะคนขายบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป เพื่อให้คุ้มค่ากับการรอคอยที่ได้รับเงินชำระค่าสินค้านาน ทำให้ราคาขายสินค้าด้วยเงินผ่อนสูงกว่าการขายสินค้าเงินสด ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้า อาจเก็บเงินไปก่อนเพื่อซื้อด้วยเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย

7. รู้จักกับการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต
 
บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้ลูกไว้กดเงินหรือรูดซื้อสินค้าต่างๆ แต่การใช้บัตรเหล่านี้อย่างไม่ระมัดระวังอาจทำให้ลูกใช้เงินเกินตัว พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็น ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้บัตร เช่น การเปลี่ยนรหัสบัตรเอทีเอ็มเป็นประจำ ไม่บอกรหัสบัตรกับเพื่อนๆ การเซ็นด้านหลังบัตรเดบิต รวมถึงการดูแลรักษาบัตรไม่ให้สูญหาย ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่อุ่นใจได้ว่าเงินที่ตนตั้งใจฝากไว้ให้ลูกใช้จ่ายจะไม่ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ

8. แบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาส
 
เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นมักจะมีของเล่นที่ไม่ใช้แล้ว การนำของเล่นเหล่านี้ไปบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาส เช่น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ เด็กพิการ นอกจากจะใช้ของเล่นที่มีอยู่ให้คุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่น และยังให้ลูกได้รู้ถึงคุณค่าของสิ่งของหรือของเล่นที่ตนเองมี
การสอนลูกเรื่องใช้จ่ายเงินไม่ใช่เรื่องยาก โดยพ่อแม่สามารถสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ พ่อแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักกับการออมและลงทุน เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก หรือการเริ่มต้นในกองทุนรวม เพื่อช่วยให้เงินที่เก็บออมมางอกเงยเป็นเงินก้อนใหญ่ได้รวดเร็วขึ้นค่ะ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : K-Expert
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
  


No comments:

Post a Comment