Thursday, November 6, 2014

มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบที่น่ากลัว




        มะเร็ง กระเพาะอาหาร นับเป็นโรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยนัก และถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่า ตัวเองป่วยเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งก็ลามถึงขั้นระยะสุดท้ายเสียแล้ว เช่น เดียวกับดาราสาวเกาหลี จาง จินยอง ที่เสียชีวิตเพราะโรค  มะเร็งกระเพาะอาหาร  นี้ด้วยวัยเพียงแค่ 35 ปี เท่านั้นเอง เห็นความน่ากลัวของ  มะเร็งกระเพาะอาหาร  กันแล้ว ก็ไปรู้จักโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร กันเลยค่ะ

          มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือ Cancer of stomach, Gastric cancer เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุภายในโพรงกระเพาะอาหาร ทั้งนี้มักพบผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะสุดท้ายแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยจะมาหาหมอเมื่อปรากฎอาการชัดเจน

สาเหตุของ มะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น

         
พันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องป่วยเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าผู้ที่ไม่มีพันธุกรรมของโรคนี้

         
เกิดจากการติดเชื้อเฮริโคแบคเตอร์ไพโรไล (Helicobactor Pyroli) ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ แบบโรคกระเพาะ

         
ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังบางชนิด หรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร

         
การสูบบุหรี่จัด ดื่มสุรามาก

         
การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หรือมีสารผสมบางอย่างในเนื้อสัตว์หมัก อาหารหมักดอง รมควัน หรืออาหารใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง

         
รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีน้อย เช่น ผัก ผลไม้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร

         
อายุ โดยปกติจะพบ มะเร็งกระเพาะอาหาร ในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

         
เพศ มักพบโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

         
เชื้อชาติ มักพบชาวเอเชียเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าชนชาติอื่นๆ

         
ผู้ที่มีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร มานานกว่า 20 ปี


อาการของ มะเร็งกระเพาะอาหาร

          ในระยะเริ่มแรกของ มะเร็งกระเพาะอาหาร จะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา ต่อมาถ้าก้อนมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ แบบเดียวกับโรคกระเพาะ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นโรคกระเพาะธรรมดา กินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ทุเลาได้ แต่ต่อมายารักษาโรคกระเพาะทานไม่ได้ผล จะมีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมา เช่น

         
คลื่นไส้ อาเจียน

         
อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง)

         
คลำพบก้อนแข็งในท้อง ตรงบริเวณเหนือสะดือ แต่กดแล้วไม่เจ็บ
         
         
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

         
กลืนอาหารลำบาก

         
คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย

          หากพบอาการเหล่านี้ แล้วไปไม่รักษา ปล่อยให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น

         
มะเร็งลามไปตับ จะมีอาการดีซ่าน หรือตาเหลือง ท้องบวมน้ำ

         
มะเร็งลามไปปอด จะมีอาการหายใจ หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก

         
มะเร็งอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จะมีอาการปัสสาวะไม่ออก หรือออกน้อย ไตวาย

         
มะเร็งอุดตันกระเพาะลำไส้ จะเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน กินอาหารไม่ได้

         
ภาวะตกเลือด ทำให้อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ หน้าตาซีดเซียวเพราะเสียเลือด เป็นต้น


การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

          การวินิจฉัยโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะใช้การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงสุด และผู้ป่วยไมาเจ็บปวด เพียงแต่อาจรู้สึกพะอืดพะอมบ้าง

          บางครั้งแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระเพาะ และลำไส้ ทั้งนี้เมื่อตรวจพบว่าเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร แล้ว แพทย์อาจจะอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินว่า มะเร็งกระจายตัวไปแค่ไหน อยู่ในระยะไหนแล้ว

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถรักษาได้โดย

         
การผ่าตัด เป็นวิธีหลักในการรักษา มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือทั้งหมด

         
เคมีบำบัด หรือ ทำคีโม โดยการให้ยาทางหลอดเลือด เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดแดงลดลง จนมีอาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่ายขึ้น อีกทั้งยังเกิดผมร่วงมากขึ้น และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอีกด้วย

         
รังสีบำบัด หรือการฉายแสง โดยการให้รังสีที่มีพลังงานสูงไปทำลายเซลล์มะเร็ง ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะให้รังสีบริเวณช่องท้องส่วนบน อาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว และมีอาการแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสีได้ แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้

          ทั้งนี้ในผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 1-2 แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และให้เคมีบำบัดต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัว การรักษาในขั้นนี้เป็นไปเพื่อให้โรคทุเลาลง หายขาด และมีอายุยืนยาว

          แต่สำหรับรายที่เป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มากๆ จะต้องให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการฉายแสง การผ่าตัดอาจทำได้เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น มีก้อนมะเร็งไปอุดกั้นทางเดินอาหาร การรักษาขั้นนี้ เป็นไปเพื่อบรรเทาภาวะแทรกซ้อน ไม่ได้มุ่งหวังในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หายไป

          อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยเป็นโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะสุดท้าย ก็จะทำได้เพียงแค่ประคับประคอง เพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน และมักจะเสียชีวิต โดยทั่วไปผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 4 จะมีเสียชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่หากดูแลรักษาร่างกายให้ดี อาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่านี้

วิธีปฏิบัติตัวหากตรวจพบเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผู้ที่ตรวจพบว่า เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้

         
ติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

         
ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

         
สร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง ทำใจยอมรับให้ได้ อาจใช้วิธีการนั่งสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ ภาวนา

         
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พยายามกินผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ให้มากๆ

         
หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เท่าที่ร่างกายจะรับได้

การป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร

          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร อย่างชัดเจน แต่สามารถป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ

         
รักษาการติดเชื้อเฮริโคแบคเตอร์ไพโรไล

         
หลีกเลี่ยงการรับประทานของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด ของปิ้งย่าง

         
รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง

         
งดสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณมาก


          เห็นได้ว่า มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นเรื่องใกล้ตัวทีเดียว ดังนั้นหากใครมีอาการของโรคกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นานเกินกว่า 4 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม และหากมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลด เพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment