Sunday, November 30, 2014

ดื่มนม ท้องเสีย เป็นเพราะอะไร




         เชื่อว่าหลาย ๆ คนเวลาดื่มนมทีไรมักจะมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน ตามมาด้วยอาการท้องเสีย จนพาลไม่อยากดื่มนมไปซะอย่างนั้น แล้วรู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้วอาการ ดื่มนม ท้องเสีย นี้พบได้บ่อยในคนไทยทีเดียว เพราะอะไรเวลาดื่มนม แล้วท้องเสียทุกที ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ

          สำหรับเหตุผลที่ ดื่มนม ท้องเสีย นั้น ไม่ใช่เกิดจากอาการแพ้นมอย่างที่หลายคนเข้าใจกันหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะในร่างกายคนไทย รวมทั้งคนแถบเอเชีย และแถบแอฟริกาจะผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยแลคโตสออกมาตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 4-5 ปีเท่านั้น และอย่าลืมว่าในน้ำตาลแลคโตสนี้พบในน้ำนมที่ได้มาจากสัตว์ทุกชนิด

          ดังนั้น เมื่อผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว น้ำย่อยตัวนี้จะลดน้อยลงจนหมดไป จึงไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ พอเราดื่มนม ไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแพะ ฯลฯ น้ำตาลในนมจะผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่แล้วถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ เกิดเป็นกรดและแก๊ส ทำให้ท้องเสียได้ เพราะไม่มีน้ำย่อยมาย่อยแลคโตสอีกแล้ว หรือบางคนอาจเกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นหน้าอก รวมทั้งผายลมบ่อย ๆ ด้วย

          แต่ใช่ว่าอาการ ดื่มนม ท้องเสีย จะเป็นกับทุกคนนะคะ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ดื่มนมแล้ว ไม่เกิดอาการใด ๆ เลย โดยทางการแพทย์เชื่อว่า คนที่ดื่มนมวัวมาอย่างต่อเนื่อง แบคทีเรียในลำไส้จะสามารถสร้างน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสขึ้นมาได้เอง จึงทำให้หลายคนไม่มีอาการท้องเสียให้เห็นเมื่อดื่มนมเข้าไปแล้ว

          แต่สำหรับคนที่ ดื่มนม ท้องเสีย ก็มักจะเลิกดื่มนมไปเลย ซึ่งก็ส่งผลต่อการขาดแคลเซียมได้ ดังนั้นมีคำแนะนำว่า สำหรับคนที่ท้องเสีย หรือแน่นท้องเมื่อดื่มนม ให้ดื่มนมหลังรับประทานทานอาหารแทน และไม่ควรดื่มนมระหว่างท้องว่าง เพื่อไม่ให้เกิดแก๊สขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ๆ จนเกิดอาการไม่สบายท้องได้

          หรืออาจจะลองลดปริมาณการดื่มนมดู ค่อย ๆ ทานทีละนิด แต่ให้ดื่มหลังรับประทานอาหารเช่นกัน หากยังท้องเสียหรือมีอาการไม่ปกติอยู่ ในสัปดาห์ถัดไป ก็ให้ลดปริมาณลงมาอีกครึ่งหนึ่ง แล้วทานปริมาณนั้นทุกวัน จนได้ปริมาณการดื่มนมที่ไม่ทำให้เกิดอาการแล้ว ก็ค่อย ๆ ลองเพิ่มปริมาณนมให้มากกว่าเดิมในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เพื่อหาปริมาณนมที่ดื่มแล้วไม่เกิดอาการนั่นเองค่ะ

          นอกจากนี้ หากไม่ชอบ หรือไม่อยากดื่มนม ก็อาจทานนมวัวที่อยู่ในรูปอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต แทนได้ และถ้าหากกลัวว่าจะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็สามารถทานอาหารประเภทอื่นที่มีแคลเซียมชดเชยแทนได้ค่ะ เช่น ผักใบเขียว งาดำ แต่อย่างไรเสียอะไรก็คงไม่ดีเท่ากับการดื่มนมสดอยู่แล้วล่ะค่ะ


เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/111112315781825365/

Tuesday, November 25, 2014

7 วิธีสร้างสุข เมื่อต้องทำงานที่ไม่ชอบ




          มาดู 7 วิธีที่สร้างสุข เมื่อต้องเผชิญหน้ากับงานที่คุณไม่ชอบ ใครที่กำลังปวดหัวอยู่กับงานเหล่านั้นต้องรีบอ่าน

          ปฏิเสธ ไม่ได้เลยนะคะว่าสมัยนี้งานหายากขึ้นทุกวัน หลายคนจึงยอมเลือกทำงานที่อาจจะไม่ตรงกับความถนัดของตัวเองเท่าไรนัก จนทำงานไปได้สักพักนั่นแหละถึงเริ่มรู้ตัวเองว่าไม่ชอบงานนั้นหรอก แต่ก็ต้องทนทำต่อไปอย่างไม่ค่อยจะมีความสุข เพราะไม่อยากกลับไปเริ่มต้นเตะฝุ่นอีกรอบ ใครกำลังเจอปัญหาแบบนี้ อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งถอยไปค่ะ ลองอ่านวิธีแก้ปัญหาดี ๆ จากเว็บไซต์ mindbodygreen.com น่าจะช่วยทำให้คุณมีความสุขกับการทำงานที่ไม่ชอบได้มากขึ้นบ้างนะคะ

 

เลิกบ่นเกี่ยวกับงานที่ทำ

          แม้จะทำใหัคุณสบายใจที่ได้ระบายออกมาแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปค่ะ เพราะยิ่งคุณบ่นมากเท่าไร มันก็จะยิ่งทำให้คุณรู้สึกแย่กับงานที่คุณทำมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นคุณควรจะสั่งให้ตัวเองหยุดบ่นถึงข้อเสียของงานได้แล้ว แม้ว่าแรก ๆ อาจจะทำได้ยากสักหน่อย แต่ถ้าหากคุณทำได้เชื่อได้เลยค่ะว่าคุณจะมีความสุขกับงานที่ทำมากขึ้นแน่นอน


ต่อรองข้อเสนอ

          ความสุขของคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินเดือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้การทำงานของคุณมีความสุขได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ วันหยุดพักร้อนที่เพิ่มขึ้น หรือเวลาพักเที่ยงที่ยาวขึ้นสักหน่อย อย่ากังวลว่ามันจะไม่เหมาะสมและคิดว่าไม่ควรถาม เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณสามารถต่อรองได้ และถ้าหากอยากให้เจ้านายของคุณเห็นด้วยก็ลองเสนอถึงข้อดีของข้อเสนอเหล่า นั้นว่าสามารถทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็จะอาจจะช่วยทำให้การต่อรอง ง่ายขึ้น แต่ก็ควรทำใจเอาไว้ด้วยนะคะ ถ้าหากข้อเสนอเหล่านั้นถูกปฏิเสธ

 

เริ่มต้นตั้งเป้าหมาย

          ถึงแม้ว่างานเหล่านั้นคุณจะไม่ค่อยชอบสักเท่าไร แต่ถ้าคุณเริ่มต้นตั้งเป้าหมายในชีวิต ก็จะช่วยทำให้คุณตั้งใจทำงานมากขึ้น อย่างเช่นตั้งเป้าว่าจะตั้งใจทำงานเก็บเงินแล้วลาพักร้อนไปเที่ยวในประเทศ ที่คุณชอบ แบบนี้จะช่วยทำให้คุณลืมความเบื่อหน่ายและข้อเสียของงานที่คุณทำอยู่ และช่วยทำให้คุณเลิกรู้สึกว่าเวลาทำงานแต่ละมันช่างยาวนานได้อีกด้วยล่ะ



จัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ

          การที่คุณไม่ชอบงานที่ทำก็อาจจะเป็นเพราะว่างานเหล่านั้นมากองจนยุ่งเหยิงอยู่บนโต๊ะทำงานทำให้คุณรู้สึกยุ่งทั้งวัน เพราะฉะนั้นหากมีเวลาว่างก็ลองจัดโต๊ะทำงานใหม่นะคะ ใช้ชั้นวางเอกสารและเก็บเอกสารที่ไม่ต้องใช้ออกจากโต๊ะ นอกจากนี้คุณอาจจะนำรูปที่คุณถ่ายเมื่อตอนพักร้อนมาวางไว้ที่โต๊ะ หรือจะเป็นต้นไม้เล็ก ๆ มาวางไว้ที่โต๊ะก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นเมื่อมองมัน แถมยังได้โต๊ะที่สะอาดเป็นระเบียบทำให้คุณไม่รู้สึกยุ่งเหยิงอีกด้วย

 

พักซะบ้าง

          การพักเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงระหว่างวันทำงานสามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายและช่วยทำให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ แค่เพียงลุกจากเก้าอี้ไปยืดเส้นยืดสายสัก 5 นาที อย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง ก็ทำให้คุณสดชื่นและกลับมาทำงานได้เต็มที่มากขึ้น นอกจากนี้การดื่มน้ำเยอะ ๆ ก็ยังช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นอีกด้วยล่ะ


สานความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

          การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในที่ทำงานเดียวกันก็ช่วยทำให้คุณรู้สึกดีได้ เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานก็เป็นแรงจูงใจให้คุณอยากจะไปทำงานมากขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าหากคุณไม่ค่อยจะมีเพื่อนในที่ทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในที่ทำงานไม่ดี เท่าไร คุณก็อาจจะยิ่งไม่ชอบงานและที่ทำงาน ฉะนั้นถ้าไม่ลำบากเกินไปนัก ลองสานสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนที่ทำงานเถอะค่ะ

 

มองโลกในแง่ดี

          เรารู้กันอยู่แล้วว่าการมองโลกในแง่ดีทำให้เรามีความสุขได้ในทุกสถานการณ์ และแน่นอนว่าวิธีนี้ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องทำงานที่ตัวเองไม่ชอบด้วยล่ะค่ะ แค่เพียงเรามองหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขในเวลาทำงาน หลีกเลี่ยงการสนใจกับสิ่งที่ทำให้คุณไม่มีความสุขในการทำงาน หมั่นขอบคุณตัวเองในใจเสมอเมื่อได้รับคำชมจากการทำงานหรือทำงานยาก ๆ สำเร็จ แค่เท่านี้ก็จะทำให้คุณมีความสุขกับงานที่ทำถึงแม้ว่าคุณจะไม่ชอบมันก็ตาม

 

          เป็นอย่างไรกันบ้าง วิธีที่นำเสนอไปก็คงพอที่จะช่วยทำให้หลาย ๆ คนที่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือไม่ชอบงานที่ทำหาทางออกกันได้บ้างนะคะ ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้คุณรักงานที่ทำมากขึ้นสักเท่าไรแต่ก็เชื่อว่าคงจะช่วยทำให้หลาย ๆ คนอยากไปทำงานมากขึ้นเนอะ ก็ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปทำกันถ้าได้ผลดีอย่างไรก็อย่างลืมเอามาเล่าสู่กันฟัง บ้างนะคะ

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/study-tables/

Tuesday, November 11, 2014

Stop ! 9 นิสัยทำลายอนาคตลูกรัก




  คุณแม่ทราบไหมคะ Dorothy Law Nolte นักประพันธ์ Children Learn What They Live กล่าวอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเด็กไว้ว่า

         
"ถ้าเด็กเติบโตมากับคำตำหนิ เด็กจะสงสัยตนเอง

         
ถ้าเติบโตมากับความเฉยเมย เด็กจะรู้สึกไร้ค่า

         
ถ้าเติบโตมากับความอับอาย เด็กจะรู้สึกผิด

         
ถ้าเติบโตมากับความกลัว เด็กจะเป็นคนวิตกกังวล

         
ถ้าเติบโตมากับกำลังใจ เด็กจะมีความเชื่อมั่น

         
ถ้าเติบโตมากับคำยกย่องชมเชย เด็กจะเห็นคุณค่าของตนเอง

         
ถ้าเติบโตมากับการยอมรับนับถือ เด็กจะยอมรับนับถือตนเอง

         
ถ้าเติบโตมากับความรัก เด็กจะรักตนเองและผู้อื่น และเพราะเด็ก

         
เลียนแบบพ่อแม่เป็นหลัก พฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้ พ่อแม่จึงไม่ควรทำนะคะ"

1. บังคับ

          พ่อ แม่ที่เผด็จการ บังคับ เคี่ยวเข็ญ ใช้อำนาจกับลูก ลูกย่อมกลายเป็นเด็กขลาด ตื่นกลัว มีความเครียดสูง แล้วเก็บกดความรู้สึกนี้ไว้ เมื่อโตพอก็จะเกิดการต่อต้าน ก้าวร้าว ตอบโต้ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาได้

2. พูดปด

          พ่อ แม่ที่พูดปด พูดอย่างทำอย่าง เช่น สอนว่าโกหกไม่ดีไม่ควรทำ แต่มีคนมาบ้านแล้วไม่อยากพบก็ให้ ลูกบอกไม่อยู่ หรือสอนว่าสูบบุหรี่ ดื่มสุราไม่ดี แต่ทำกลับเสียเอง ลูกย่อมสับสน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีได้

3. เปรียบเทียบ

          พ่อ แม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกคนหนึ่งกับอีกคน หรือเด็กอื่น เช่น ลูกไม่เก่งเท่าเด็กข้างบ้าน น้องสวยกว่า หรืออื่น ๆ จะทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจ อิจฉา ริษยา ท้อใจ เหล่านี้ไม่เป็น ผลดีต่อการพัฒนาเด็กให้เก่ง และมีอนาคตที่ดี

4. ตามใจ

          พ่อ แม่ที่ตามใจลูกมาก ลูกอยากได้อะไรจะต้องให้ทันที จะทำให้ลูกเป็นเด็กไม่รู้จักอดทนรอคอย เมื่อโตขึ้นเข้าสู่สังคมนอกบ้านจะเข้ากับใครได้ยาก เอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากค่ะ

5. ไม่ให้เวลาลูก

          พ่อ แม่ที่มีปัญหาจัดสรรเวลา รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ก็แทบไม่มีเวลาให้ลูกตามหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ ก็ต้องแบ่งเวลาให้ได้ กำหนดเลยว่า จันทร์-ศุกร์ทำงาน เสาร์-อาทิตย์ต้องหยุด เป็นวันของครอบครัวที่จะมีกิจกรรมร่วมกัน

6. กังวลเกินเหตุ

          พ่อ แม่ที่มักแสดงความกังวลในตัวลูก เช่น กลัวลูกไม่สบาย กลัวลูกถูกแดดฝนจนเป็นไข้ กลัวลูกได้รับอุบัติเหตุ กลัวลูกถูกหลอก กลัวสารพัด จะทำให้ลูกพลอยเป็นเด็กวิตกกังวลตาม จนขาดความเชื่อมันในตัวเองได้

7. ปกป้องมาก

          พ่อ แม่ที่ถนอมลูกดุจไข่ในหิน ไม่ยอมให้ทำอะไรทั้งที่ลูกโตแล้ว พ่อแม่จัดการให้หมด เพราะกลัวจะเป็นอันตราย เหล่านี้จะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ช้า ช่วยเหลือตัวเองช้า ตัดสินใจเองไม่ได้ ไม่มั่นใจที่จะทำสิ่งใดค่ะ

8. เจ้าระเบียบ

          พ่อ แม่ที่เจ้าระเบียบมาก ทุกอย่างต้องตรงเป๊ะ ไม่ยืดหยุ่นผ่อนปรน เมื่อลูกไม่ทำตามก็ดุว่า ลูกจะคิดว่าตัวเองไม่ดี ไม่มีความสามารถ ผิดหวัง มีปมด้อย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออนาคต ดังนั้นลดความเข้มงวดลงบ้างนะคะ

9. ลำเอียง

          พ่อ แม่ที่เลือกที่รักมักที่ชัง รักลูกชายมากกว่าลูกสาว รักน้องมากกว่าพี่หรืออื่น ๆ ที่ลำเอียง เพราะเด็กอยากได้รับความเสมอภาค พ่อแม่จึงไม่ควรทำ ลูกจะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ไม่มั่นใจที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองค่ะ

          บ้านไหนที่กำลังมีพฤติกรรม 9 ข้อที่กล่าวมา หรือมีแนวโน้มว่าจะนำทั้ง 9 ข้อมาใช้ ก็รีบปรับเปลี่ยนนะคะ เพื่อลูกน้อยของเราค่ะ

แหล่งที่มา  Mother&Care, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Monday, November 10, 2014

ผลกระทบสุดแย่ ที่เกิดเพราะแค่คุณเครียด




        รู้หรือไม่ว่า แค่เพียงคุณวิตกกังวล สุขภาพของคุณก็โดนทำร้ายโดยไม่รู้ตัวแล้วนะ ถ้าไม่อยากเจ็บป่วยต้องเลิกกังวลซะ

           ความวิตกกังวล เป็นอาการส่วนหนึ่งของความเครียด ที่ซึ่งมีส่วนทำให้สุขภาพร่างกายของคุณย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าหากเกิดความเครียดอย่างเรื้อรังด้วยละก็ มันก็ยิ่งส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้มากมายนับไม่ถ้วนเลยล่ะ แล้วอยากรู้กันไหมคะว่าความเครียดและความวิตกกังวลทำร้ายสุขภาพของเราได้อย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลเกี่ยวกับผมกระทบของความเครียดและความวิตกกังวลมาเล่่าสู่กันฟังจากเว็บไซต์ huffingtonpost.com ค่ะ รับรองถ้าคุณรู้แล้วจะไม่อยากเครียดอีกเลยแน่นอน

            เมื่อร่างกายของเราเข้าสู่ภาวะความเครียด ร่างกายของเราก็จะเกิดความผิดปกติในการทำงาน ทำให้ร่างกายทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งอาจจะสังเกตให้เห็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย จนถึงอาการที่หนักหนา ยิ่งความเครียดสะสมมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งส่งผลต่อร่างกายเท่านั้น โดยเมื่อร่างกายของเราเผชิญหน้ากับความเครียด ก็จะะส่งผลดังนี้


คอแห้ง

           หลายคนคงเคยรู้สึกว่าทำไมเวลาที่เครียดถึงรู้สึกว่าคอแห้งเหลือเกิน เวลาจะพูดคุยกับใครก็รู้สึกว่าเสียงตัวเองแหบแห้ง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเมื่อร่างกายของเราเกิดความเครียด กล้ามเนื้อบริเวณลำคอของเราจะเกิดการหดตัว และน้ำบริเวณนี้จะโยกย้ายไปอยู่ที่ส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้คอของเราแห้งและกลืนอาหารหรือน้ำได้ลำบากนั่นเองค่ะ

 

ปฏิกิริยาต่อตับ

           เมื่อเกิดความเครียด ตับของเราก็จะทำงานผิดปกติทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความเครียด โดยเจ้าฮอร์โมนชนิดนี้เป็นต้นเหตุทำให้ตับผลิตน้ำตาลกลูโคสมากขึ้น ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้ให้พลังงานสูง แม้ว่าจะสามารถดูดซึมกลับได้โดยไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ในร่างกาย แต่มันก็เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกันค่ะ

 

ปฏิกิริยาต่อผิวหนัง

           ความเครียดส่งผลทำให้เราเหงื่อออกได้แม้จะอยู่ในอากาศที่เย็นก็ตาม นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้แก้มของเราแดงระเรื่ออีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าคนที่หน้าแดงนั้นเป็นเพราะเขาเขินนะคะ แต่อาจจะเป็นเพราะเขากำลังเครียดอยู่ก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากระบบไหลเวียนของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เลือดถูกผลักดันไปที่กล้ามเนื้อมากจนเกินไป และถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็จะส่งผลทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำและแก่ก่อนวัยได้ นอกจากนี้ การศึกษาของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ยังพบอีกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลอาจนำมาสู่โรคผิวหนังอักเสบได้อีกด้วย

 

 ม้ามทำงานอย่างหนัก

           ความวิตกกังวลไม่ได้แค่เพียงส่งผลต่อสมองและหัวใจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลเสียต่อการทำงานของม้ามและเซลล์เม็ดเลือดของเราอีกด้วย ซึ่งความเครียดจะส่งผลให้ม้ามหลั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาในจำนวนมหาศาล และทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นถึง 300 - 400% 



กล้ามเนื้อตึง

           เมื่อเราเริ่มรู้สึกวิตกกังวล กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มตึงเครียดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ไหล่แข็งและปวดคอ หรือแม้แต่อาการปวดไมเกรน นอกจากนี้ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติอย่างเรื้อรังของกล้ามเนื้อได้

             นอกจากนี้ความเครียดและความวิตกกังวลถ้าหากเกิดขึ้นเรื้อรัง ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่อันตรายมากขึ้นได้ โดยส่งผลต่อร่างกายดังนี้


ต่อหัวใจ

           ความ เครียดหรือความวิตกกังวลที่เรื้อรังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการเต้นของหัวใจ  รวมถึงโรคความดันโลหิตและระดับฮอร์โมนความเครียดที่มีมากเกินไป โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยอีกว่า ความเครียดในระยะยาวเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดได้

 

ต่อปอด

           การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความ เครียดและวิตกกังวลกับโรคหอบหืด และผู้ที่เป็นโรคหอบหืดก็มีแนวโน้มที่จะพบกับอาการหวาดผวาได้อีกด้วย ซึ่งในการศึกษาพบว่าความเชื่อมโยงของความเครียดที่เรื้อรังและโรคหอบหืดมีผลกระทบอยู่ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจอ่อนแอลงด้วยค่ะ


ต่อสมอง

           สมองเป็นอวัยวะที่จะได้รับผลกระทบจากความเครียดเรื้อรังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจหรือกายภาพ ซึ่งความเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลต่อความจำไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะ ยาว รวมทั้งการผลิตสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ความเครียดระยะยาวยังทำให้ระบบประสาททำงานหนักขึ้น จนร่างกายเกิดความเมื่อยล้าและอาการปวดต่าง ๆ ได้ และความเครียดที่เรื้อรังยังกระทบต่อการนอนหลับทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอค่ะ

 

ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

           ความเครียดไม่เพียงส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาพบว่าเมื่อคนเราเครียด ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการอักเสบได้มากขึ้น

 

ต่อระบบย่อยอาหาร

           อาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย หรือภาวะเครียดลงกระเพาะ อาการเหล่านี้เป็นผลกระทบมาจากความเครียด ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบลำไส้ได้ ทำให้การดูดซึมและการย่อยอาหารไม่ดีเท่าที่ควร และเป็นสาเหตุภาวะลำไส้แปรปรวนได้

           ไม่เพียงแค่นั้น ความเครียดยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอ้วนได้ โดยจากการศึกษาพบว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานจะลดความไวของอินซูลินในเลือดได้ ทำให้อินซูลินไวต่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังมีการงานวิจัยอื่น ๆ ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีความเครียดกับการหายของแผลอีกด้วยเช่นกัน

           ความเครียดและความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกายไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือการลดภาวะความเครียดของตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ  แต่ก็ต้องเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพด้วยนะคะ เพราะถ้าหากเราใช้วิธีผิด ๆ อย่างเช่นการพึ่งแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็อาจจะทำให้สุขภาพของเรายิ่งแย่กว่าเดิม คราวนี้ล่ะอาจจะทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อกันได้ง่าย ๆ เลยนะจะบอกให้