Monday, July 13, 2015

ภูมิคุ้มกันช่วยลูกอยู่รอด




         การสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยฟันฝ่าอุปสรรคไปได้อย่างมีความสุขไม่ใช่ เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ไว้เป็นแนวทางในการสอนลูก ๆ และสร้างเกราะป้องกันตัวเองสำหรับเด็ก ๆ เพื่อลูกจะได้เติบโตไปอย่างมีความสุข พร้อมเรียนรู้โลกกว้างได้อย่างมั่นใจ พร้อมแล้วมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ๆ กับนิตยสาร MODERNMOM กันเลยดีกว่าค่ะ ^^

           การรู้คุณค่าในตัวเอง หรือ Self-esteem เป็นเสมือนเกราะป้องกันตัวเองสำหรับเด็ก ๆ ที่จะเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต เด็กที่รักและรู้คุณค่าในตัวเอง รู้จักจุดด้อย-จุดแข็งของตน และยอมรับมัน จะสามารถต่อสู้กับขาลงในบางช่วงของชีวิต และฟันฝ่าอุปสรรคกลับขึ้นมายืนอย่างมีความสุขได้ ในขณะที่เด็กที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) จะจมปลัก เศร้าหมอง หงุดหงิด โมโห เมื่อชีวิตไม่เป็นไปดังหวัง และอาจหันไปหายาเสพติดหรือความรุนแรงต่าง ๆ แทนที่จะต่อสู้อย่างเหมาะสม

Self-esteem vs. Self-confidence

           การรู้คุณค่าในตัวเองกับความมั่นใจในตัวเอง ไม่เหมือนกันนะคะ การรู้คุณค่าในตัวเอง คือ เรามองเห็นตัวเองอย่างไร รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะบุคคลหนึ่งแค่ไหน รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น มีความสุขกับสิ่งที่ตนเป็น ซึ่งพัฒนามาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

           ความมั่นใจในตนเอง คือ ความรู้สึกมั่นใจในความสามารถหรือทักษะด้านต่าง ๆ ที่ตนทำได้ เช่น บางคนอาจมีความมั่นใจในการร้องเพลง กล้าแสดงออก แต่ไม่มีความสุข รู้สึกว่าตัวเองไม่สวยพอ ยังไม่ดีพอตลอดเวลา หรือตัวแอนนี่เองมีความสุขกับตัวเอง รู้คุณค่าของตัวเอง แต่ไม่มั่นใจและไม่กล้าที่จะร้องเพลงเลยค่ะ

เสริมสร้างการรู้คุณค่าในตัวเอง

           Seif-esteem ใช้เวลาในการสร้าง มีขาขึ้น-ขาลงและต้องใช้เวลา แต่ที่แน่ ๆ ต้องเริ่มตั้งแต่เล็ก เพราะถึงวัยผู้ใหญ่แล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนสิ่งที่คุณเห็นคุณค่าของตนเองมา ตั้งแต่เล็ก ๆ ได้ ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ แต่คุณค่ามากที่แอนนี่ขอนำมาฝากกับคุณพ่อแม่ก็มีดังนี้ค่ะ

        
1. รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ ได้หมายถึงให้ตามใจลูกนะคะ แต่ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักหนูไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือไม่ว่าหนูจะเป็นเช่นไร กอด หอมลูกบ่อย ๆ ถ้าลูกทำอะไรผิดให้ว่าที่พฤติกรรม เช่น หนูกรี๊ดเวลาไม่ได้ดั่งใจอย่างนี้ไม่น่ารักนะคะ แม่รักหนูแต่ไม่ชอบที่หนูกรี๊ด ไม่ใช่ว่าลูกทำไมเอาแต่ใจ หรือทำไมดื้ออย่างนี้ เป็นต้น

        
2. ให้เวลากับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้ลูกอย่างเต็มที่จริง ๆ ไม่ใช่นั่งเล่นกับลูกแต่มือกดโทรศัพท์ไปด้วย เล่นกับลูกให้เสร็จก่อน (อาจตั้งเวลาไว้) พอเสร็จแล้วก็ไปทำงานของตน

        
3. ตั้งกฎ ควรมีกฎเกณฑ์ร่วมกันในบ้านและยึดมั่นในกฎ เช่น ห้ามรับประทานอาหารในห้องนอน และก็ต้องเป็นเช่นนี้ทุกวัน

        
4. ให้ลูกเลือกเอง พยายามให้ 2 ทางเลือกกับลูกเสมอ เพื่อลูกจะได้รู้สึกว่าเขาได้เลือกเอง ไม่ได้ถูกบังคับ เช่น จะใส่เสื้อสีขาวหรือสีแดงดีคะ แล้วให้ลูกชี้เลือกก็ได้ค่ะ แต่ต้องเป็นทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่รับได้หรือเห็นด้วยนะคะ เพราะถ้าลูกเลือกแล้วต้องยอมรับในการตัดสินใจของลูกด้วย

        
5. กล้าเสี่ยง สนับสนุนให้ลูกกล้าลองอะไรใหม่ ๆ เพราะคนเราคงไม่ประสบความสำเร็จถ้าไม่กล้าลงมือทำ เช่น ปล่อยให้ลูกลองเล่นของเล่นใหม่เอง จะเล่นผิดเล่นถูกก็ไม่เป็นไร ลูกจะสั่งสม Self-esteem ได้อย่างดีเมื่อได้รับการปกป้องของพ่อแม่ และการกล้าลองสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเองเกิดขึ้นอย่างสมดุล

        
6. เรียนรู้จากความผิดพลาด การรู้คุณค่าในตัวเองเกิดขึ้น เมื่อลูกสามารถแก้ไขความผิดพลาดได้ และลูกรู้ว่าตนเองยังมีคุณค่าอยู่เสมอถึงแม้จะผิดพลาด นั่นคือสาระที่เราอยากสอนลูก บางทีเราต้องปล่อยให้ลูกทำอะไรไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเดี๋ยวอาจจะต้องเจ็บตัว เลอะเทอะหรือร้องไห้ แต่ก็ต้องยอมถ้าไม่ได้อันตรายอะไร เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญถ้าลูกพลาดอย่าพูดว่า "ก็แม่บอกแล้วใช่ไหม" แต่ค่อย ๆ แนะหาทางแก้ไขไปด้วยกัน

        
7. ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถทำอะไรเองได้อย่างสำเร็จ เช่น วางเก้าอี้เล็ก ๆ ให้ลูกขึ้นไปล้างมือเองได้ ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า ที่ใส่ง่าย ๆ ลูกจะได้ใส่เองได้ โดยไม่ต้องมีคนช่วยลูกจะได้ภูมิใจค่ะ

        
8. ฟังลูกเสมอ ถึงลูกจะยังพูดได้ไม่มาก ก็ต้องฟังค่ะ ให้ลูกได้รู้ว่าความคิด ความรู้สึกของเขาสำคัญเสมอ

        
9. ชมเชย ชมเมื่อลูกทำดีแต่เอาให้เจาะจงนะคะ เช่น "ขอบคุณนะคะที่รอแม่ทำงาน" "เก่งจังเก็บของเล่นเองด้วย" แต่ต้องระวังด้วย เพราะชมมากไปก็ใช่ว่าจะดี เวลาชมต้องจริงใจและไม่พร่ำเพรื่อไม่เช่นนั้นอาจดาษดื่นจนลูกไม่ให้ความ สำคัญ ไม่อยากได้ หรือกดดันให้ต้องได้รับคำชมตลอดเวลา ที่สำคัญชมที่ลูกพยายามหรือได้ทำอย่างเต็มความสามารถ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกลงมือทำ ไม่ใช่สิ่งที่ลูกทำได้ เพราะเราต้องการให้ลูกภูมิใจ รู้สึกดีกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ผลสำเร็จของการกระทำนั้น ๆ

           ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดของคำพูดและการกระทำของตนเองพอสมควรที เดียว แต่ผลที่ได้เกินคุ้มค่าค่ะ เพราะคือคุณค่าของชีวิตที่ลูกจะมีความสุขและเป็นคนดีของสังคมตลอดไป

แหล่งที่มา  MODERNMOM, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment