Monday, May 16, 2016

10 รายจ่ายที่ควรรัดเข็มขัด ถ้าไม่อยากให้กระเป๋าฉีกก่อนสิ้นเดือน




วิธีบริหารเงินเดือนด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มาเช็กกันสิว่าค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ควรรัดเข็มขัดให้ดี จะได้มีเงินไว้ใช้ได้นานถึงสิ้นเดือน

        ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนมีเงินเดือนไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ก็มาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันบางอย่างที่จ่ายไปด้วยความเคยชิน โดยไม่ทันนึกว่านั่นอาจเป็นความฟุ่มเฟือย หรือเกินความจำเป็น ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ไม่น้อย ลองมาดู 10 รายจ่ายที่คุณสามารถประหยัดได้เพื่อการบริหารเงินเดือนที่ดียิ่งขึ้น


1. ค่าเดินทาง

          หลายคนหมดเงินไปกับค่าเดินทางมากเกินความจำเป็นเพราะต้องการความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเลือกนั่งรถแท็กซี่ หรือใช้รถส่วนตัวทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน หากเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางด้วยการใช้บริการสาธารณะ อย่างเช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า หรือเรือได้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ

          ลองคำนวณว่าวิธีการเดินทางไหนประหยัดและเหมาะสมที่สุด และถ้าหากคำนวณแล้ว การใช้บริการรถสาธารณะอย่างรถเมล์อาจจะทำให้เสียเวลามากกว่า หรือไม่มีรถไฟฟ้าผ่านเส้นที่คุณเดินทาง ก็อาจจะปรับเป็นเดินทางด้วยรถเมล์สลับกับรถแท็กซี่ วันเว้นวันบ้าง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย วิธีนี้ก็จะช่วยให้คุณเห็นเงินที่เหลือจากค่าเดินทางมากขึ้นแน่นอน
 

2. ค่าโทรศัพท์

          ในปัจจุบันนี้ที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นโทรศัพท์ที่มีคนใช้มากที่สุด ทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์มักจะตกไปอยู่ที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตราย เดือนเสียมากกว่า แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องจ่ายทั้งค่าอินเทอร์เน็ตและค่าโทรศัพท์ รวมกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าอยากจะประหยัดเงินค่าโทรศัพท์ ลองมองหาแอพพลิเคชั่นที่สามารถโทรศัพท์หากันได้ฟรี หรือโปรแกรมสนทนาแบบไม่ต้องเสียเงินมาใช้ แต่ถ้าใครไม่สะดวกก็ลองมองหาโปรโมชั่นที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับพฤติกรรมการ ใช้ของคุณ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินกับรายจ่ายส่วนนี้มากเกินความจำเป็น
 

3. ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค

          ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ที่ต้องซื้อในแต่ละเดือน ล้วนเป็นเงินไม่ใช่น้อยเช่นกัน โดยวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็แค่เพียงเลือกซื้อของใช้ที่จำเป็นเท่า นั้น จดรายการของที่ต้องซื้อทุกครั้งเพื่อกำหนดแผนการใช้จ่าย อีกทั้งถ้าเป็นของใช้ที่ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน เช่น ยาสีฟัน สบู่  ก็ควรเลือกซื้อแบบที่ขายยกแพ็กหรือขนาดครอบครัว เพราะราคาถูกและคุ้มค่ากว่าการซื้อแบบแยกชิ้น และยังสามารถใช้ได้นานกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะเลยทีเดียว


4. ค่ากาแฟ

          ใครที่คิดว่าการซื้อกาแฟแค่วันละ 1 แก้วนั้นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่หนักหนาละก็ เปลี่ยนความคิดเลยค่ะ เพราะการที่คุณซื้อกาแฟ 1 แก้วทุกวัน เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจำนวนเงินที่สูงไม่ใช่น้อย

          ลองนึกเล่น ๆ สิว่า ถ้ากาแฟ 1 แก้วราคา 40 บาท ดื่มทุกวันที่มาทำงาน เท่ากับว่าใน 1 เดือนคุณจะต้องเสียค่ากาแฟไป 880 บาท แสดงว่าใน 1 ปีคุณต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับกาแฟถึง 10,560 บาท ซึ่งนี่ล่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนมีเงินไม่พอใช้ วิธีแก้ไขอาจไม่จำเป็นถึงขั้นต้องเลิกดื่มกาแฟ แต่แค่เพียงลองเปลี่ยนจากการซื้อกาแฟตามร้านมาชงดื่มเอง ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงจนคุณคาดไม่ถึงเลย
 

5. ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง

          จริงอยู่ที่เมื่อคนเราทำงานหนักก็ต้องผ่อนคลายและหาความบันเทิงให้กับตัวเอง บ้าง เช่น ออกไปดูหนังนอกบ้าน ปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อน หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุด แต่ถ้าเราใช้เงินกับส่วนนี้มากเกินไปอาจจะทำให้คุณกลับมานั่งเครียดกับปัญหา การเงินได้ ฉะนั้นแทนที่เราจะใช้เงินซื้อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ลองมองหากิจกรรมสนุก ๆ ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เช่น ไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ดูทีวี เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีไม่แพ้กัน


6. ค่าอาหารนอกบ้าน

          ยิ่งค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการห่ออาหารไปรับประทานเองที่ทำงาน หรือการเลือกทานอาหารในร้านที่มีราคาย่อมเยา ก็ล้วนแต่เป็นวิธีที่ช่วยให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลงได้ ถ้าวันนี้คุณคิดลดค่าใช้จ่ายด้วยการเปลี่ยนจากการรับประทานอาหารในร้านหรู ๆ หรือในห้างสรรพสินค้า กลับมากินข้าวบ้าน คุณก็สามารถประหยัดค่าอาหารไปได้เยอะแล้วล่ะ
 

7. ค่าสาธารณูปโภค

          การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ไม่ได้แค่เพียงช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเลยทีเดียว แค่เริ่มต้นจากการใช้น้ำอย่างประหยัด และปิดไฟดวงที่ไม่ใช้เท่านั้น คุณก็จะเห็นได้ว่าค่าน้ำและค่าไฟลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าอยากจะประหยัดน้ำและไฟให้มากขึ้นเราก็มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันตามนี้เลย

          - 15 วิธีประหยัดน้ำ เริ่มทำได้ง่าย ๆ เริ่มจากที่บ้าน
          - 10 วิธีประหยัดไฟในบ้าน ลดค่าไฟให้ได้ผลจริง


8. ค่าบัตรเครดิต

          แม้บัตรเครดิตจะเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกสบายกว่าการใช้เงินสด แต่ก็ต้องจำให้ขึ้นใจว่านี่เป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อรูดบัตรเครดิตไปแล้วสุดท้ายตอนสิ้นเดือนคุณก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่า นี้อยู่ดี ดังนั้นจึงควรควบคุมการใช้บัตรเครดิตอย่างเคร่งครัด ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อที่ในเดือนต่อ ๆ ไปคุณจะได้ไม่ประสบปัญหารายจ่ายสูงจนเงินไม่พอใช้ และเมื่อคุณสามารถควบคุมการใช้บัตรเครดิตได้แล้ว ผลพวงที่ตามมาก็คือคุณจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย


9. ค่าช้อปปิ้ง

          สำหรับขาช้อป คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายควบคุมยากสุด ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกระหน่ำลดราคาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แถมยังทำให้เงินเดือนของเราร่อยหรอลงเร็วยิ่งกว่าเดิม วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ยากเลย แค่ต้องควบคุมจิตใจ และตั้งสติให้ได้ ช้อปเท่าที่จำเป็น และหลีกให้ห่างจากป้ายลดราคาโดยเด็ดขาด ไม่อย่างนั้น นอกจากกระเป๋าฉีกแล้วก็ยังทำให้ในบ้านมีของที่อาจจะไม่ได้ใช้เลยมาทำให้รก บ้านเสียเปล่า ๆ
 

10. ค่าบริการสมาชิก

          หลายคนต้องหมดเงินไปกับค่าบริการสมาชิกรายเดือนที่แทบจะไม่ได้ใช้บริการ หรือไม่ก็ใช้บริการไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป แต่ก็ยังยอมจ่ายเงินไป ซึ่งรายจ่ายส่วนนี้ก็ไม่ใช่น้อย ๆ หากวันนี้คุณอยากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ลองหันกลับมามองดูซิว่ามีรายจ่ายใดที่คุณจ่ายไปโดยไม่จำเป็น หากเป็นค่าบริการสมาชิกฟิตเนส หรือคลาสออกกำลังกาย คุณได้เข้าไปใช้ให้คุ้มกับที่เสียไปไหม หรือถ้าหากเป็นค่าเคเบิลทีวี คุณได้ดูทีวีบ่อยพอที่จะเสียเงินในส่วนนี้หรือเปล่า หากคิดคำนวณแล้วไม่คุ้มค่าก็ยกเลิกไปเลยดีกว่า ช่วยประหยัดเงินไปได้อีกเยอะ

          เมื่อรู้แล้วว่าค่าใช้จ่ายไหนเป็นสาเหตุที่บั่นทอนเงินในกระเป๋าลงแล้ว ก็อย่าลืมหันกลับมาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เงินกันด้วยนะ เพื่อที่เราจะได้มีเงินใช้อย่างเพียงพอไปตลอดทั้งเดือน ไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่นหรือนำเงินเก็บมาใช้ค่ะ


http://money.kapook.com/view148023.html

No comments:

Post a Comment