Thursday, December 3, 2015

ส่งเสริมวินัยลูกรัก 6 วิธีที่ควรทำและไม่ควรทำ


      การเลี้ยงลูกให้ ได้ดังใจแบบที่คุณพ่อคุณแม่หวังไว้ อาจจะต้องใช้เวลาแบบค่อยเป็นค่อยไปสักหน่อยค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ในการเลี้ยงลูกในเชิงบวกมาฝากกันค่ะ เพราะบางครั้งการใช้ไม้แข็งกับลูกก็ให้ผลไปในทางลบมากกว่าค่ะ งั้นเรามาดู 6 ข้อที่ควรส่งเสริมวินัยลูกและ 6 ข้อ ที่พ่อแม่ไม่ควรทำกับนิตยสาร Mother & Care กันเลยค่ะ
 

6 วิธีที่ควรทำ

         1. สร้างกฎเกณฑ์ บางอย่างขึ้นมาสำหรับลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ หรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่น ให้โอกาสลูกตักข้าวกินเอง แต่ต้องให้ลูกใช้ช้อนตัก ไม่ใช้มือหยิบข้าว

         2. การที่จะทำให้ลูกเต็มใจอยู่ในระเบียบวินัยนั้นทางที่ดีที่สุด คือ ให้การยอมรับในตัวลูก ให้ความร่วมมือกับลูก แสดงความรักกับลูก กอดลูก รวมทั้งใช้คำชมเชยให้กำลังใจลูก จะมีผลทำให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่าการบังคับ

         3. เรื่องใดที่ต้องตัดสินใจ หรือเลือกทำลูกจะรู้สึกยุ่งยาก ควรกำหนดลงไปเลย เช่น เมื่อถึงเวลาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น "ถึงเวลาต้องอาบน้ำแล้วจ้า" หรือ "ถึงเวลาต้องกินข้าวเย็นแล้วนะจ๊ะ" เพื่อให้ลูกรู้ว่าลูกต้องทำอะไรเมื่อถึงเวลานั้นเวลานี้

         4. ควรออกกฎเข้มงวดเฉพาะเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตลูกก็พอ เช่น ออกกฎห้ามไม่ให้ลูกแหย่ปลั๊กไฟ หรือออกไปวิ่งนอกถนน ห้ามเล่นไม้ขีดไฟ หรืออื่น ๆ ถ้าลูกขัดขืน ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ต้องให้ลูกรู้ด้วยว่าตัวเองนั้นทำผิดเรื่องอะไร

         5. ควรสร้างวินัยด้วยวิธีให้ลูกปรับตัวปรับพฤติกรรมให้เป็นที่ยอมรับในสังคม และรู้จักยับยั้งตัวเองโดยไม่เสียความภูมิใจในตัวเองไป เช่น ลูกปืนขึ้นไปเล่นในบางที่ที่พ่อแม่ตกลงไว้แล้วได้ แต่ลูกจะปืนขึ้นไปบนโต๊ะอาหารไม่ได้ หรือลูกรื้อของเล่นมาเล่นได้ตามใจชอบ แต่ลูกต้องรู้จักเก็บให้เข้าที่เวลาเล่นเสร็จด้วย ห้ามทิ้งเกลื่นกลาด เป็นต้น

         6. ถ้าต้องการให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนลูกควรทำสิ่งไหนลูกไม่ควรทำ ควรจะบอกที่การกระทำนั้น เช่น "เทน้ำเลอะเทอะอย่างนี้ไม่ได้นะจ๊ะ พื้นห้องสกปรกไปหมดแล้วเห็นไหมจ๊ะ ถ้าลูกเดินเหยียบเข้าก็จะลื่นล้มเจ็บตัวได้จ๊ะ" ซึ่งการพูดดี ๆ กับลูก อธิบายให้ลูกฟังจะได้ผลในทางบวกมากกว่า



6 วิธีที่ไม่ควรทำ

         1. อย่าฝึกลูกอย่างเข้มงวดกวดขัน หรือตั้งข้อจำกัดให้กับลูกมากไป หรือเร่งเร้าลูกมากเกินไป รวมทั้งอย่าใช้วิธีบังคับตายตัวไม่ยืดหยุ่น หรือใช้การลงโทษที่รุนแรง เพราะมีแต่จะสร้างแรงต้านให้ลูกตอบโต้กลับมา

         2. อย่าตั้งความคาดหวังในตัวลูกว่าลูกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยหรือกฎเกณฑ์ ที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น เพราะผลที่ได้จะกลายเป็นความโน้มเอียงที่จะบังคับเข้มงวดกับลูกไม่มากก็น้อย ได้ในที่สุด

         3. อย่าใช้วิธีขู่ว่าจะไม่รักถ้าลูกไม่มีระเบียบวินัย ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ เพราะลูกจะตีความไปแล้วว่าพ่อแม่ไม่รักหรือเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รักตัวเองจริง ๆ ไม่ได้มองว่าเป็นการพูดขู่หรือแกล้งพูด ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกแสดงอาการต่อต้านมากขึ้น หรืองอแงมากขึ้น

         4. อย่าคิดว่าตำหนิแล้วจะทำให้ลูกรู้สึกผิด และไม่ทำสิ่งนั้นอีก แต่ผลที่ได้จะกลายเป็นไปในทางลบ คือทำลายความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูก

         5. อย่าทำให้เหตุการณ์เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือเห็นเป็นความผิดร้ายแรง เช่น ลูกทำแก้วตกแตกเพราะถือไปวิ่งไป ไม่ควรตำหนิลูกทันที แต่ควรเก็บกวาดและปลอบลูกให้หายตกใจก่อน แล้วบอกลูกถึงสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ เช่น "ลูกต้องระวังอย่าถือแก้วน้ำวิ่งแบบนี้ เพราะมันจะตกแตก ลูกจะต้องค่อย ๆ เดินช้า ๆ จะได้ไม่ตกแตกอีก"

         6. อย่าตีลูก แม้ผลของการตีจะหยุดยั้งพฤติกรรมลูกได้ชั่วขณะ แต่ไม่ได้สอนให้ลูกรู้ว่าอะไรถูกผิด กลับเป็นการสอนให้ลูกโกรธ และแสดงความก้าวร้าวตอบโต้ อาจใช้ได้บ้าง ถ้าจำเป็นจริง ๆ แต่ก็ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และควรให้การตีลูกเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะมีวิธีการที่ดีกว่านี้สามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้

 

ข้อควรรู้คู่การเล่นกีฬา

          เยาวชนเป็นผู้ที่กำลังเติบโต ร่างกายจึงยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การฝืนออกกำลังมาก เล่นแรงมาก เพราะอยากจะเอาชนะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกลายเป็นผลเสียระยะยาวได้ และการซ้อมมาก ๆ การทำท่าใดท่าหนึ่งซ้ำ ๆ กันมากก็อาจทำให้ร่างกายบางส่วนบาดเจ็บได้มาก เช่น นักเบสบอลที่ขว้างลูกมาก ๆ อาจเกิดการบาดเจ็บที่ไหล่ การตีเทนนิสมาก ๆ อาจทำให้ข้อศอกอักเสบ ด้วยเหตุนี้สมาคมโรคเด็กสหรัฐอเมริกาจึงกล่าวว่า การส่งเสริมการเล่นกีฬาของเยาวชนควรมุ่งหวังแต่เพียงให้เด็กติดนิสัยดี ๆ คือ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพในระยะยาว อย่าเล่นแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อการเป็นแชมป์โลก หรือเพื่อชิงทุนการศึกษาตามใจพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็ควรให้ลูกเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่นไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาดูว่าเล่นกีฬาชนิดไหนได้ดีที่สุดสำหรับลูก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
Vol.11 No.129 กันยายน 2558
http://baby.kapook.com

เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/pin/9710955418810874/

No comments:

Post a Comment