1. ตื่นตูมกับทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินไป
ในช่วงขวบปีแรกของลูกน้อย จะเป็นช่วงที่คุณแม่ใกล้จะสติแตกมากที่สุด จนหลายคนก็เผลอตื่นตูมกับทุกพฤติกรรมของลูกเกินไป อย่างเช่น ตื่นตกใจเมื่อลูกสำรอกนม หรือร้องไห้กระจองอแงบ่อย ๆ ซึ่งความตื่นตระหนกของคุณแม่อย่างนี้ ก็จะกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดความกังวลไปด้วยได้ กุมารแพทย์ก็ได้ชี้แจงว่า ร่างกายของเด็กแรกเกิด จะมีกระบวนการยืดหยุ่น และปรับสภาพร่างกายตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากคุณแม่มั่นใจว่าให้นมลูกในปริมาณที่เหมาะสม และลูกน้อยเองก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติเกินไป ปัญหาเด็กสำรอกนม หรือร้องไห้บ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก
2. คิดว่าการที่ลูกร้องไห้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข
พ่อแม่หลายคนจะตกใจมากหากเห็นลูกน้อยร้องไห้ เพราะเข้าใจว่า เมื่อไรที่เด็กร้องไห้ออกมา ก็แสดงว่าเด็กรู้สึกแย่หรือป่วย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เด็กกับการร้องไห้เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เด็ก ๆ ร้องไห้ก็เพราะเขายังเป็นเด็ก และไม่รู้วิธีจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรเท่านั้นเอง แต่หากว่าลูกน้อยร้องไห้เสียงดัง ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ปลอบเท่าไรก็ไม่ยอมหยุดร้อง กรณีนี้ควรพาเขาไปหากุมารแพทย์โดยด่วนนะจ๊ะ
3. ปลุกลูกมาดื่มนม
อาจเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า นมแม่จะไม่อยู่ท้อง และไม่สามารถทำให้ลูกรักเต็มอิ่มได้ตลอดทั้งคืน ด้วยเหตุนี้คุณแม่หลายท่านจึงมักจะปลุกลูกน้อยตอนกลางดึก เพื่อให้เขาตื่นมาดื่มนมแม่อีกครั้ง ก่อนจะกล่อมให้เขาหลับต่ออีกหน ซึ่งต้องบอกตรงนี้เลยว่า การปลุกลูกน้อยให้ตื่นขึ้นมาดื่มนมกลางดึกแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำนัก เพราะในยามกลางคืนเด็กเองก็ไม่ได้มีความต้องการดื่มนมแม่เท่าไร แต่เขาต้องการพักผ่อนอย่างเต็มที่ตลอดทั้งคืนต่างหาก
4. สับสนระหว่างการแหวะและอาเจียน
คุณแม่หลายคนมักจะสับสนระหว่างพฤติกรรมที่ลูกแหวะของที่กินออกมา และอาการอาเจียน โดยแยกไม่ออกว่า ลูกแหวะหรือว่าอาเจียนจริง ๆ กันแน่ และมักจะบรรเทาอาการของลูกแบบผิด ๆ หรือเข้าข่ายตื่นตกใจเกินเหตุ แต่ทั้งนี้กุมารแพทย์ก็แนะนำว่า หากลูกแหวะหรือสำรอกนมทุก ๆ 30-45 นาทีติดต่อกัน อันนับเป็นอาการอาเจียน ก็อาจเป็นไปได้ว่า ระบบทางเดินอาหารของลูกมีปัญหา แต่หากลูกน้อยเพียงแค่แหวะออกมาเป็นครั้งคราว ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
5. ละเลยอุณภูมิในตัวลูกน้อย
หากอุณภูมิของลูกน้อยสูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียส ก็นับว่าเป็นระยะอันตรายกับตัวเด็กแล้ว แต่คุณแม่มือใหม่หลายคนมักจะเข้าใจผิดไปว่า เด็กเพียงตัวอุ่น ๆ จากการที่เราห่มผ้า หรือสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้เขาเท่านั้น ซึ่งการละเลยเช่นนี้สามารถเปิดโอกาสให้ลูกรักป่วยได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว ดังนั้นหากรู้สึกได้ว่าลูกตัวอุ่น ๆ ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง แถมยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรีบนำเขาไปพบแพทย์ด่วนเลยนะคะ
6. ติดตั้งคาร์ซีทไม่ถูกต้อง
ต้องยอมรับว่าสมัยนี้เราใช้ชีวิตกันได้ง่ายดายขึ้นมาก ถึงขนาดที่ซื้ออุปกรณ์อะไรมาก็สามารถติดตั้งด้วยตัวเองง่าย ๆ ตามคู่มือการใช้งานได้เลย แต่สำหรับคาร์ซีทของลูกน้อยควรจะต้องเป็นกรณียกเว้น เนื่องจากหากคุณสุ่มสี่สุ่มห้าติดตั้งคาร์ซีทแบบผิด ๆ ไป อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกรักในขณะที่เขาโดยสารรถยนต์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ ฉะนั้นก็ควรยกหน้าที่นี้ให้ช่างผู้ชำนาญการเป็นคนติดตั้งคาร์ซีทให้จะดีกว่า
7. ไม่ใส่ใจสุขภาพช่องปากของลูกรัก
ผู้ใหญ่หลายคนมักจะเข้าใจว่า เด็ก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เนื่องจากเขาไม่ค่อยได้รับประทานอาหารเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กุมารแพทย์ก็แนะนำให้คุณแม่ใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของลูกรักตั้งแต่เนิ่น ๆ เริ่มจากไม่ปล่อยให้เขานอนหลับคาขวดนม ในกรณีที่ลูกน้อยมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นแล้ว และพยายามให้เขาได้บ้วนปากด้วยฟลูโอไรด์ด้วย โดยอาจจะปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กก็ได้ นอกจากนี้ก็ควรใช้ผ้ากอซชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเหงือกให้ลูกรักทุกครั้งหลัง เขารับประทานอาหาร หรือดื่มนมด้วย
8. หลงลืมความสัมพันธ์ฉันท์สามี ภรรยา
คู่แต่งงานหลายคู่เริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากที่ให้กำเนิดลูกน้อยออกมา โดยนักจิตวิทยาได้ชี้แจงว่า ต้นเหตุของปัญหาอาจเกิดจากการที่คุณแม่มือใหม่ต้องทุ่มเทเวลาเลี้ยงดูลูก น้อยแบบแทบจะถวายชีวิต อุทิศเวลาทั้งหมดของตัวเองให้ดวงใจแสนรัก ก็เลยลืมดูแลความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาไปบ้าง จนหนักเข้าก็กลายเป็นสร้างระยะห่างระหว่างกันโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงดูลูกน้อย ก็อย่าลืมแบ่งเวลาไปกุ๊กกิ๊กกับสามีบ้างนะจ๊ะ
9. แสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูก
เด็กอายุ 3 เดือนก็เริ่มรับรู้ และมีความรู้สึกแล้ว ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูกน้อยอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเสียง หรือตะคอกใส่กัน รวมทั้งการทะเลาะตบตีกันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเครียด และความกดดันให้ลูกน้อยโดยที่คุณไม่ทันได้รู้สึกตัว และอาจะเป็นสาเหตุให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเมื่อเขาโตขึ้น
10. หลงเชื่อวิธีการเลี้ยงลูกจากแหล่งที่เชื่อถือไม่ได้
ผลสำรวจเผยว่า คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักจะพลาดไปหลงเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า ต้องส่งผลเสียมากกว่าผลดีกับลูกรักของเราอยู่แล้ว ฉะนั้นต่อไปนี้ควรรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกน้อยจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือจากประสบการณ์ตรงของคุณแม่มือโปรที่ผ่านการเลี้ยงดูเด็กเล็กมาก่อน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีน ซึ่งควรต้องได้รับคำแนะนำจากกุมารแพทย์โดยตรง
เป็นยังไงกันบ้างคะ คุณแม่มือใหม่ซิง ๆ เผลอทำพลาดตาม 10 ข้อนี้กันบ้างหรือเปล่า แต่ถึงแม้จะเคยผิดพลาดมาก่อน ก็คงยังไม่สายที่จะแก้ตัว แล้วรีบเปลี่ยนมาเลี้ยงดูลูกรักด้วยวิธีที่ถูกต้องจากนี้ต่อไปนะจ๊ะ
No comments:
Post a Comment