Monday, December 3, 2018

ข้อดีของการกอดลูก 9 ข้อ สัมผัสรักที่ยิ่งใหญ่ ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด




ข้อดีของการกอดลูก 9 ประโยชน์ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า การได้โอบกอดและหอมเจ้าตัวเล็กทุกวันนั้นดีขนาดไหน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลาที่คนเราไม่สบายหรือหาของดี ๆ มาทำให้ร่างกายแข็งแรง มักจะหันไปพึ่งศาสตร์การแพทย์หรือยาบำรุงกันซะส่วนใหญ่ แต่รู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้ว เราทุกคนนั้นมียาวิเศษที่หาได้ง่าย ๆ ใกล้ตัวจากลูกน้อยของเรานี่เอง ซึ่งยาที่ว่านั้นก็คือ "การโอบกอด" ที่วันนี้กระปุกดอทคอมขอยก 9 ข้อดีของการกอดลูก มาการันตีสรรพคุณ และทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ซึ้งถึงความสำคัญด้วยว่า การได้กอด ได้หอมลูกทุกวัน นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของทุกคนมากขนาดไหน รับรองคราวนี้ไม่ต้องไปตามหายาแพง ๆ กันอีกเลยล่ะค่ะ ^^

1. คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

          เมื่อคุณแม่โอบกอดลูกน้อยด้วยความรัก สมองจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อฮอร์โมนแห่งความรัก (Love Hormone) ออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวคุณแม่และคุณลูก เพราะช่วยทำให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพและปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทั้งยังเสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันของลูกน้อยสมบูรณ์ แข็งแรงดีอีกด้วย

2. ผ่อนคลายความเครียด

          นอกจากฮอร์โมนออกซิโทซินจะช่วยกระตุ้นน้ำนมแล้ว ยังทำหน้าที่ต่อสู้กับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ช่วยทำให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกรู้สึกผ่อนคลาย สงบสุข รวมถึงหลับสบายมากขึ้น สังเกตจากการที่เจ้าตัวเล็กของหลาย ๆ คน ชอบงอแงให้คุณพ่อคุณแม่โอบกอดเวลาเข้านอน หรือกระทั่งเด็กทารกเองก็สามารถสงบลงได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่ออยู่ในอ้อมกอดอุ่น ๆ ของคุณแม่นั่นเอง

3. กระตุ้นการทำงานของปอดและหัวใจ

          เวลาที่คุณแม่อุ้มหรือกอดลูกน้อยเอาไว้แนบอก จะทำให้ลูกได้ยินเสียงชีพจรของเราได้อย่างชัดเจน และส่วนใหญ่ เด็กจะเริ่มหายใจตามจังหวะการเต้นของหัวใจคุณแม่โดยอัตโนมัติ ถือเป็นการฝึกให้ปอดและหัวใจ รวมถึงระบบการหายใจของลูกเป็นปกติ โดยคุณแม่อาจตบหลังลูกเบา ๆ เป็นจังหวะคงที่ไปด้วยก็ได้ค่ะ

4. ช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล

          ด้วยความที่เด็กทารกยังมีผิวที่อ่อนแอและบอบบาง ทำให้ไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศได้ดีเท่าผู้ใหญ่อย่างเรา การสัมผัสตัวหรือการกอดลูกน้อยบ่อย ๆ โดยเฉพาะในหน้าหนาว จึงช่วยรักษาความอบอุ่น และปรับอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยให้สมดุลคงที่ได้

5. เสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของลูกแข็งแรง

          ว่ากันตามศาสตร์ของโยคะ การสัมผัสตัวกันและกัน เป็นเหมือนการถ่ายเทประจุไฟฟ้าธรรมชาติจากตัวเราไปสู่อีกคน เมื่อใดที่เราโอบกอดลูกน้อยแบบเนื้อแนบเนื้อ พลังงานจากตัวคุณพ่อคุณแม่จะส่งต่อไปยังร่างกายของลูก แนะนำให้ใช้ฝ่ามืออุ่น ๆ กดลงที่บริเวณหน้าอกของลูกน้อยเบา ๆ ระหว่างการกอดด้วย เพราะเป็นการกระตุ้นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ช่วยควบคุมและรักษาปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดขาวให้สมดุล พร้อมต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

6. ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย

          การกอดลูกน้อยโดยเฉพาะทารกนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวัยที่ประสาทตาและหูยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้สามารถรับความรู้สึกได้จากการสัมผัสเพียงเท่านั้น หากคุณแม่ขยันอุ้มเจ้าตัวเล็กมากอด มาหอม และแตะตัวด้วยความรัก ความเอ็นดูอยู่บ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย รวมถึงลดอาการงอแงให้น้อยลงด้วยค่ะ

7. ทำให้ลูกรู้จักคุณค่าในตัวเอง

          เพราะเด็กเล็กมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ ทำให้อาจมีการเอาแต่ใจ หรือเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นบ้างตามประสา การกอดเขาเอาไว้ให้แน่น ๆ นี่แหละค่ะคือตัวช่วยที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนสำคัญ ยังเป็นที่ต้องการ และยังได้รับความรักจากคนอื่น รับรองเลยว่าโตไปลูกจะมีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่น และรู้จักคุณค่าของตัวเอง ยิ่งถ้าได้กอดบ่อย ๆ ยิ่งช่วยย้ำให้รู้ด้วยว่า ลูกจะยังมีพ่อกับแม่ที่คอยห่วง คอยเป็นกำลังใจ และพร้อมให้ความรักกับลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะออกไปเจอกับเรื่องแย่ ๆ มาแค่ไหนก็ตาม

8. ช่วยลดอาการปวดเมื่อย

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีอาการปวดเนื้อเมื่อยตัวเป็นประจำ บอกเลยว่ายาวิเศษดี ๆ นั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพียงคุณอุ้มลูกน้อยมาไว้ในอ้อมกอด ก็จะรู้สึกได้ทันทีเลยว่าความตึงเครียดที่สะสมเอาไว้นั้นเบาลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ รู้สึกผ่อนคลายไปด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมานั่นเอง

9. เป็นการลงโทษที่ดีที่สุด

          พูดถึงเด็กวัยไร้เดียงสา ที่บางครั้งก็อาจทำผิดโดยไม่รู้ตัวหรือเพราะความซุกซนได้ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการว่ากล่าวตักเตือน ขอแนะนำว่าการกอดจะเป็นการลงโทษที่ได้ผลดี มากกว่าการคว้าไม้เรียวมาตีอย่างแน่นอน เพราะความอบอุ่นของอ้อมกอดจะทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาได้รับการให้อภัย ไม่รู้สึกกลัวว่าต้องถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แต่ก็อย่าลืมอธิบายถึงผลเสียของการกระทำในครั้งนั้น ๆ ของลูกด้วยนะคะ เจ้าตัวเล็กจะได้ทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และจำเอาไว้เป็นบทเรียน ไม่ทำผิดซ้ำอีกในอนาคต

         
 รู้ว่ามีข้อดีมากมายขนาดนี้แล้ว สงสัยคุณพ่อคุณแม่ได้จับลูกน้อยมากอดกันทั้งวันแน่เลย.. แต่อย่าลืมออมแรงกันด้วยน้า ไม่งั้นเจ้าตัวเล็กช้ำกันพอดี ><”

ข้อมูลจาก : parentingforbrain.com, thenewageparents.com, smartparenting.com.ph, mindbodygreen.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/528750812473052754/


Thursday, November 22, 2018

10 วิธีเลี้ยงลูก ที่คุณแม่มือใหม่มักทำพลาดในช่วงขวบปีแรก



         ถึงแม้ว่าการเลี้ยงเด็กแรกเกิดจะไม่มีข้อบังคับ คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกรักได้ตามสัญชาตญาณความเป็นแม่ได้เต็มที่ แต่เชื่อไหมคะว่า วิธีเลี้ยงลูกของคุณแม่มือใหม่หลายคน ก็เข้าข่ายวิธีการเลี้ยงลูกแบบผิด ๆ อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ลูกน้อยไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่เท่าที่ควร หรือเด็ก ๆ อาจจะพลาดโอกาสเรียนรู้บางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งหากคุณเองก็เป็นคุณแม่มือใหม่ ที่ยังไม่แน่ใจนักว่าตัวเองเลี้ยงลูกรักแบบผิด ๆ อยู่หรือเปล่า วันนี้เราก็มี 10 วิธีเลี้ยงลูกที่คุณแม่มือใหม่มักทำพลาดในช่วงขวบปีแรกจาก เว็บไซต์เว็บเอ็มดี มาให้คุณแม่มือใหม่ได้สำรวจตัวเองกันด้วยค่ะ

1. ตื่นตูมกับทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินไป

           ในช่วงขวบปีแรกของลูกน้อย จะเป็นช่วงที่คุณแม่ใกล้จะสติแตกมากที่สุด จนหลายคนก็เผลอตื่นตูมกับทุกพฤติกรรมของลูกเกินไป อย่างเช่น ตื่นตกใจเมื่อลูกสำรอกนม หรือร้องไห้กระจองอแงบ่อย ๆ ซึ่งความตื่นตระหนกของคุณแม่อย่างนี้ ก็จะกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดความกังวลไปด้วยได้ กุมารแพทย์ก็ได้ชี้แจงว่า ร่างกายของเด็กแรกเกิด จะมีกระบวนการยืดหยุ่น และปรับสภาพร่างกายตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากคุณแม่มั่นใจว่าให้นมลูกในปริมาณที่เหมาะสม และลูกน้อยเองก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติเกินไป ปัญหาเด็กสำรอกนม หรือร้องไห้บ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก

2. คิดว่าการที่ลูกร้องไห้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข

           พ่อแม่หลายคนจะตกใจมากหากเห็นลูกน้อยร้องไห้ เพราะเข้าใจว่า เมื่อไรที่เด็กร้องไห้ออกมา ก็แสดงว่าเด็กรู้สึกแย่หรือป่วย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เด็กกับการร้องไห้เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เด็ก ๆ ร้องไห้ก็เพราะเขายังเป็นเด็ก และไม่รู้วิธีจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรเท่านั้นเอง แต่หากว่าลูกน้อยร้องไห้เสียงดัง ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ปลอบเท่าไรก็ไม่ยอมหยุดร้อง กรณีนี้ควรพาเขาไปหากุมารแพทย์โดยด่วนนะจ๊ะ

3. ปลุกลูกมาดื่มนม

           อาจเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า นมแม่จะไม่อยู่ท้อง และไม่สามารถทำให้ลูกรักเต็มอิ่มได้ตลอดทั้งคืน ด้วยเหตุนี้คุณแม่หลายท่านจึงมักจะปลุกลูกน้อยตอนกลางดึก เพื่อให้เขาตื่นมาดื่มนมแม่อีกครั้ง ก่อนจะกล่อมให้เขาหลับต่ออีกหน ซึ่งต้องบอกตรงนี้เลยว่า การปลุกลูกน้อยให้ตื่นขึ้นมาดื่มนมกลางดึกแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำนัก เพราะในยามกลางคืนเด็กเองก็ไม่ได้มีความต้องการดื่มนมแม่เท่าไร แต่เขาต้องการพักผ่อนอย่างเต็มที่ตลอดทั้งคืนต่างหาก

4. สับสนระหว่างการแหวะและอาเจียน

           คุณแม่หลายคนมักจะสับสนระหว่างพฤติกรรมที่ลูกแหวะของที่กินออกมา และอาการอาเจียน โดยแยกไม่ออกว่า ลูกแหวะหรือว่าอาเจียนจริง ๆ กันแน่ และมักจะบรรเทาอาการของลูกแบบผิด ๆ หรือเข้าข่ายตื่นตกใจเกินเหตุ แต่ทั้งนี้กุมารแพทย์ก็แนะนำว่า หากลูกแหวะหรือสำรอกนมทุก ๆ 30-45 นาทีติดต่อกัน อันนับเป็นอาการอาเจียน ก็อาจเป็นไปได้ว่า ระบบทางเดินอาหารของลูกมีปัญหา แต่หากลูกน้อยเพียงแค่แหวะออกมาเป็นครั้งคราว ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด

5. ละเลยอุณภูมิในตัวลูกน้อย

           หากอุณภูมิของลูกน้อยสูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียส ก็นับว่าเป็นระยะอันตรายกับตัวเด็กแล้ว แต่คุณแม่มือใหม่หลายคนมักจะเข้าใจผิดไปว่า เด็กเพียงตัวอุ่น ๆ จากการที่เราห่มผ้า หรือสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้เขาเท่านั้น ซึ่งการละเลยเช่นนี้สามารถเปิดโอกาสให้ลูกรักป่วยได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว ดังนั้นหากรู้สึกได้ว่าลูกตัวอุ่น ๆ ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง แถมยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรีบนำเขาไปพบแพทย์ด่วนเลยนะคะ

6. ติดตั้งคาร์ซีทไม่ถูกต้อง

           ต้องยอมรับว่าสมัยนี้เราใช้ชีวิตกันได้ง่ายดายขึ้นมาก ถึงขนาดที่ซื้ออุปกรณ์อะไรมาก็สามารถติดตั้งด้วยตัวเองง่าย ๆ ตามคู่มือการใช้งานได้เลย แต่สำหรับคาร์ซีทของลูกน้อยควรจะต้องเป็นกรณียกเว้น เนื่องจากหากคุณสุ่มสี่สุ่มห้าติดตั้งคาร์ซีทแบบผิด ๆ ไป อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกรักในขณะที่เขาโดยสารรถยนต์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ ฉะนั้นก็ควรยกหน้าที่นี้ให้ช่างผู้ชำนาญการเป็นคนติดตั้งคาร์ซีทให้จะดีกว่า

7. ไม่ใส่ใจสุขภาพช่องปากของลูกรัก

           ผู้ใหญ่หลายคนมักจะเข้าใจว่า เด็ก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เนื่องจากเขาไม่ค่อยได้รับประทานอาหารเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กุมารแพทย์ก็แนะนำให้คุณแม่ใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของลูกรักตั้งแต่เนิ่น ๆ เริ่มจากไม่ปล่อยให้เขานอนหลับคาขวดนม ในกรณีที่ลูกน้อยมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นแล้ว และพยายามให้เขาได้บ้วนปากด้วยฟลูโอไรด์ด้วย โดยอาจจะปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กก็ได้ นอกจากนี้ก็ควรใช้ผ้ากอซชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเหงือกให้ลูกรักทุกครั้งหลัง เขารับประทานอาหาร หรือดื่มนมด้วย

8. หลงลืมความสัมพันธ์ฉันท์สามี ภรรยา

           คู่แต่งงานหลายคู่เริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากที่ให้กำเนิดลูกน้อยออกมา โดยนักจิตวิทยาได้ชี้แจงว่า ต้นเหตุของปัญหาอาจเกิดจากการที่คุณแม่มือใหม่ต้องทุ่มเทเวลาเลี้ยงดูลูก น้อยแบบแทบจะถวายชีวิต อุทิศเวลาทั้งหมดของตัวเองให้ดวงใจแสนรัก ก็เลยลืมดูแลความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาไปบ้าง จนหนักเข้าก็กลายเป็นสร้างระยะห่างระหว่างกันโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงดูลูกน้อย ก็อย่าลืมแบ่งเวลาไปกุ๊กกิ๊กกับสามีบ้างนะจ๊ะ

9. แสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูก

           เด็กอายุ 3 เดือนก็เริ่มรับรู้ และมีความรู้สึกแล้ว ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูกน้อยอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเสียง หรือตะคอกใส่กัน รวมทั้งการทะเลาะตบตีกันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเครียด และความกดดันให้ลูกน้อยโดยที่คุณไม่ทันได้รู้สึกตัว และอาจะเป็นสาเหตุให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเมื่อเขาโตขึ้น


10. หลงเชื่อวิธีการเลี้ยงลูกจากแหล่งที่เชื่อถือไม่ได้

           ผลสำรวจเผยว่า คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักจะพลาดไปหลงเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า ต้องส่งผลเสียมากกว่าผลดีกับลูกรักของเราอยู่แล้ว ฉะนั้นต่อไปนี้ควรรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกน้อยจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือจากประสบการณ์ตรงของคุณแม่มือโปรที่ผ่านการเลี้ยงดูเด็กเล็กมาก่อน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีน ซึ่งควรต้องได้รับคำแนะนำจากกุมารแพทย์โดยตรง

           เป็นยังไงกันบ้างคะ คุณแม่มือใหม่ซิง ๆ เผลอทำพลาดตาม 10 ข้อนี้กันบ้างหรือเปล่า แต่ถึงแม้จะเคยผิดพลาดมาก่อน ก็คงยังไม่สายที่จะแก้ตัว แล้วรีบเปลี่ยนมาเลี้ยงดูลูกรักด้วยวิธีที่ถูกต้องจากนี้ต่อไปนะจ๊ะ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/27021666494688258/
 

Sunday, September 2, 2018

10 วิธีทำให้ลูกหยุดร้องไห้ พร้อมเคล็ดลับปลอบลูกน้อยเมื่องอแง




        วิธีที่ทำให้ลูกหยุดร้องไห้ ด้วย 10 เคล็ดลับปลอบลูกน้อยเมื่อร้องไห้งอแง จะมีวิธีใดที่เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บ้าง มาดูกันเลยค่ะ

         การเลี้ยงทารกแรกเกิดถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพราะนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับตัวกับการเลี้ยงลูกแล้ว ยังต้องพบเจอกับเหตุการณ์และบททดสอบใหม่ ๆ ไม่ซ้ำวัน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไปพร้อมกับการเติบโตของลูก โดยเฉพาะการเลี้ยงเด็กทารกแรกเกิดที่ยังไม่สามารถบ่งบอกความต้องการออกมาเป็นคำพูดได้ว่าเขาต้องการอะไร การร้องไห้ของทารกจึงเป็นการสื่อสารให้พ่อแม่ได้รับรู้ แต่ทว่าเด็กบางคนก็ร้องไห้งอแงเสียจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดและเป็นกังวล เพราะไม่เข้าใจว่าลูกต้องการอะไร ร้องไห้ทำไม และต้องทำอย่างไรลูกถึงจะหยุดร้องไห้

          
ทั้งนี้ต้นเหตุที่ทำให้ทารกร้องไห้ อาจเกิดมาจากความหิว ความง่วง ปวดท้อง ท้องอืด ผ้าอ้อมเปียกชื้น ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว อยากให้พ่อแม่อุ้ม หรืออาจฟันขึ้นก็เป็นได้ ทั้งนี้การปลอบลูกน้อยให้หยุดร้องไห้งอแงนั้นก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าให้นมแล้ว กล่อมนอนแล้ว หรือแม้แต่เปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว เจ้าตัวน้อยก็ยังคงร้องไห้ไม่หยุด กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลับดี ๆ ด้วย 10 วิธีทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ มาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคนกันแล้ว มาดูกันค่ะว่าจะมีวิธีรับมือกับเด็กร้องไห้อย่างไรได้บ้าง

1. อุ้มลูกไว้ในอ้อมกอด

          สัมผัสรักจากการอุ้มและการกอดของพ่อแม่ช่วยทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้และสงบลงได้ โดยอุ้มลูกน้อยให้ซบหน้าอยู่กับอกหรือไหล่พร้อมกับเดินไปมา หรือนั่งบนเก้าอี้โยก หรืออาจใช้เป้อุ้มลูกมาช่วยแบ่งเบาความเมื่อยของคุณพ่อคุณแม่ไปได้บ้าง พร้อมกับอุ้มลูกน้อยเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน การที่ทารกถูกอุ้มและเคลื่อนไหวไปมาแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลิน ไม่งอแง

2. อุ้มลูกในท่าซูเปอร์แมน

          คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าการอุ้มลูกในท่าซูเปอร์แมน หรือการจับลูกน้อยนอนคว่ำแล้วค่อย ๆ เคลื่อนไหวไปคล้ายท่าซูเปอร์แมนบินนั้น ถือเป็นท่าอุ้มทารกให้หยุดร้องไห้ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยอุ้มลูกให้นอนคว่ำบนแขนทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ โยกเบา ๆ ไปทางซ้ายและขวา การอุ้มแบบนี้จะมีการเปลี่ยนระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกำลังลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำ รู้สึกถึงความคุ้นเคยขณะที่อยู่ในครรภ์แม่ จึงทำให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ได้เร็วนั่นเองค่ะ

3. ห่อตัวลูกน้อยด้วยผ้า


          การห่อตัวลูกน้อยด้วยผ้าก็สามารถช่วยให้ลูกเลิกร้องไห้งอแงได้เช่นกัน เพราะเป็นวิธีที่ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนตอนอยู่ในครรภ์ โดยคุณแม่สามารถใช้ผ้าห่อตัวชนิดใดก็ได้ที่ไม่หนามากเกินไป ห่อตั้งแต่ช่วงลำตัว แขน ขา เมื่อห่อแล้วควรให้ลูกนอนหงายเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรห่อตัวลูกแน่นเกินไป ให้ลูกได้ขยับขาและสะโพกเล็กน้อย หากห่อตัวแน่นไปอาจทำให้ลูกขางอได้หรือมีสรีระที่ผิดปกติได้ค่ะ

4. นวดสัมผัสลูกน้อย

          การนวดสัมผัสนอกจากจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ร้องไห้งอแงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทในสมอง ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทั้งยังช่วยส่งผ่านความรัก ความอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย ไม่เพียงแต่การนวดจะทำให้ลูกอารมณ์ดีแล้ว ยังช่วยปรับอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่และลดความตึงเครียดได้ดีอีกด้วย

5. เบี่ยงเบนความสนใจ

          อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ก็คือการเบี่ยงเบนความสนใจนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงแปลก ๆ การเล่นจ๊ะเอ๋กับคุณพ่อคุณแม่หรือตุ๊กตาต่าง ๆ รวมไปถึงของเล่นที่ส่งเสียง เช่น ตุ๊กตาบีบ หรือของเล่นที่มีเสียงกุ๊งกิ๊ง ๆ หรือแม้แต่การเล่นกับกระจกเงาก็ช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกน้อยได้เช่นกัน วิธีนี้จะทำให้ลูกสนใจกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า และลืมไปว่ากำลังร้องไห้งอแงอยู่

6. ร้องเพลงหรือพูดกล่อมลูก

          ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังอุ้มปลอบลูกน้อยอยู่นั้น ลองพูดคุยหรือร้องเพลงกล่อมเขาเบา ๆ ดูสิคะ น้ำเสียงของพ่อแม่และท่วงทำนองของเพลงจะช่วยดึงดูดความสนใจ หรืออาจทำเสียงชู่วใกล้ ๆ หูลูกที่กำลังร้องไห้อยู่ ก็ช่วยเรียกความสนใจและทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้เช่นกันค่ะ

7. เปิดเสียงรบกวนต่าง ๆ (White Noise)

          ลองเปิดเสียงรบกวนต่าง ๆ เพื่อเลียนแบบเสียงหึ่ง ๆ ที่ลูกได้ยินตอนอยู่ในครรภ์ เช่น เสียงของพัดลม เครื่องดูดฝุ่น ไดร์เป่าผม เครื่องซักผ้า ไปจนถึงเสียงฝนตก และเสียงคลื่นทะเล ซึ่งเสียงเหล่านี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกจากการร้องไห้งอแง และช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยสงบและผ่อนคลายลงได้

8. ออกไปเปิดหูเปิดตาข้างนอก


          ลองพาลูกน้อยออกไปเปลี่ยนบรรยากาศข้างนอกบ้านดูบ้าง โดยอาจจะพาไปนั่งรถเล่นนอกบ้าน หรือพาลูกนั่งรถเข็นเด็ก แล้วเข็นไปรอบ ๆ บ้าน ให้เขาได้เห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ รอบตัวที่ช่วยเรียกความสนใจและหยุดอาการงอแงลงได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สิ่งของ ต้นไม้ หรือสัตว์ต่าง ๆ

9. ใช้จุกหลอก

          การดูดช่วยทำให้ทารกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และเพลิดเพลิน ซึ่งการให้ลูกดูดจุกหลอกจะช่วยลดอาการงอแง ทำให้ลูกหลับง่าย ช่วยลดความเสี่ยงในการกินนมมากเกินไป อย่างไรก็ตามไม่ควรให้ลูกดูดจุกหลอกเป็นเวลานาน เมื่อลูกมีอายุ 1 ขวบหรือเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ก็ควรให้ลูกดูดจุกหลอกน้อยลงจนสามารถเลิกดูดจุกหลอดได้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับรูปฟัน ช่องหู ช่องคอ ไปจนถึงปัญหาด้านการพูดได้ค่ะ

10. จับลูกเรอ

          สาเหตุที่ลูกร้องไห้อาจเกิดมาจากความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวจากลมที่อยู่ในท้องหลังจากกินนมแม่อิ่ม ดังนั้นหลังลูกกินนมอิ่มให้คุณแม่จับลูกเรอด้วยการอุ้มพาดบ่าแล้วใช้มือลูบหลังลูกเบา ๆ หรืออาจให้ลูกนั่งบนตัก แล้วใช้มือประคองช่วงคางลูกไว้ อุ้งมือของคุณแม่จะช่วยนวดท้องลูกเพื่อไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างให้ลูบหลังเบา ๆ จากนั้นลูกน้อยก็จะค่อย ๆ เรอออกมาค่ะ

          
การร้องไห้งอแงของเด็กทารกนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ยังไงแล้วคุณพ่อคุณแม่ลองนำเทคนิคเคล็ดลับที่เรานำมาฝากนี้ไปใช้กับเจ้าตัวน้อยดูนะคะ อาจต้องมีลองผิดลองถูกกันบ้าง ค่อย ๆ เรียนรู้และปรับใช้กันไป หากมีวิธีไหนที่ใช้ได้ผลอย่างไร ก็อย่าลืมมาบอกเล่ากันบ้างนะคะ ^_^

ข้อมูลจาก : thelist.com, momjunction.com, dailymom.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/230528074654424747/