Monday, October 30, 2017

5 วิธีเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะ 1-3 ปี




วิธีเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ของเด็กวัยเตาะแตะ 1-3 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ จะได้เตรียมพร้อมรับมือและช่วยกันเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยให้เติบโตมีพัฒนาการสมวัย จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ...

          เด็กในช่วงวัยเตาะแตะ (Toddler) ที่มีอายุ 1-3 ขวบ หรือช่วงวัยก่อนเรียน เป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มมีพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ เด็กจะเริ่มเดินได้ พูดได้ และเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เด็กสามารถไปไหนมาไหนได้เองมากขึ้น ทำให้มีอิสระ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น เลือกที่จะกินหรือไม่กินอะไร เริ่มหยิบหรือตักอาหารกินเอง ไม่ยอมให้ป้อน รวมไปถึงการเลือกเสื้อผ้า และของเล่นเอง นอกจากนี้เด็กวัยเตาะแตะจะชอบสำรวจศึกษาสิ่งรอบตัว มีความอยากรู้อยากเห็น อยากลองไปหมดเสียทุกอย่าง ช่างสงสัย ช่างซักช่างถาม ช่างสังเกตและจดจำ ชอบคิดชอบจินตนาการ หรือพูดง่าย ๆ เลยก็คือเป็นวัยที่กำลังซนนั่นเองค่ะ ซึ่งพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนปวดหัวและเกิดความกังวล ไม่รู้ว่าจะรับมือยังไงดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีทางแก้ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และส่งเสริมให้ลูกน้อยได้มีโอกาสใช้ความสามารถทางพัฒนาการของเขาตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยควบคุมไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะจะเป็นการฝึกลูกน้อยให้มีความมั่นใจและมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

          และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเสริมสร้างและพัฒนาความเป็นตัวตนของลูกน้อย วันนี้กระปุกดอทคอมก็มี 5 เคล็ดลับที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเองในเด็กวัยเตาะแตะ 1-3 ขวบ มาฝากกันแล้ว จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาติดตามกันเลยค่ะ

1. ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการสำรวจ

          เด็กในช่วงวัย 1-3 ขวบ เป็นวัยที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระในการเคลื่อนไหว อยากรู้อยากลองว่าตนเองสามารถทำอะไรได้แค่ไหน ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ยิ่งห้ามยิ่งอยากทำ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า และทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง ให้เขามีอิสระในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ใกล้ ๆ พร้อมสอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ด้วยวิธีบอกกล่าวหรือห้ามอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้กฎกติกาและทักษะทางสังคมไปด้วยค่ะ ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงอิสระในการใช้ชีวิตตัวเองได้มากขึ้น ได้ฝึกความกล้าหาญ สติปัญญา และความมั่นใจที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ เป็นการฝึกฝนให้เขาได้ลองใช้ความกล้าหาญของตัวเองอย่างเต็มที่

2. ให้เขาทดลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง

          เนื่องจากเด็ก ๆ วัยนี้เป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น อยากลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อท้าทายความสามารถของตัวเอง เช่น การเลือกทานข้าว หยิบจับอาหารเอง เลือกเสื้อผ้าที่ใส่ เลือกของเล่น รวมไปถึงการเลือกกิจกรรมว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งหากเจ้าตัวน้อยเรียกร้องอยากลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเองแล้ว ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เสี่ยงอันตรายมากจนเกินไป เช่น การทานอาหารเอง อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจให้ลูกลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ คอยให้กำลังใจ และคอยช่วยเหลือเฉพาะเมื่อลูกขอร้อง เมื่อเขาทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ นอกจากตัวเขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ในชีวิตเขาได้มากอีกด้วย

3. ให้พื้นที่อิสระในการเรียนรู้

          อย่างที่บอกว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังซน เมื่อเขาเริ่มเดินเริ่มวิ่งได้ ก็จะชอบสำรวจสิ่งของและพื้นที่ในบริเวณต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีพื้นที่ให้เขาได้วิ่งเล่น โดยอาจมีมุมส่วนตัวของลูกที่มีของเล่นเสริมพัฒนาการ เช่น ตัวต่อเลโก้ บ้านตุ๊กตา ห้องครัวจำลอง เป็นต้น ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ตรวจสอบความแข็งแรงของโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องเรือน เสียบที่อุดปลั๊กไฟ เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือของอันตรายให้พ้นมือเด็ก รวมไปถึงกั้นเขตพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น บันได หรือระเบียงบ้าน เป็นต้น

4. ฝึกให้ลูกรู้จักตัดสินใจ

          เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยฝึกให้เขารู้จักตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยกำหนดตัวเลือกมาให้แบบง่าย ๆ สัก 2-3 อย่าง เช่น ขนม เสื้อผ้า ของเล่น โดยที่คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของเขา วิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ทำให้เป็นคนกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ทั้งยังทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ

5. หากิจกรรมให้ลูกทำ

          เด็กวัยนี้ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และชอบที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตตามผู้ใหญ่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจให้เขาช่วยงานแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำได้ง่ายตามวัย แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะไม่เรียบร้อยสมบูรณ์เท่าไรนัก แต่ก็เป็นการฝึกให้เขาได้ใช้ความพยายามและความอดทน เช่น เก็บของเล่น เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้ว ช่วยทิ้งขยะ เช็ดโต๊ะ ล้างผัก ล้างผลไม้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อลูกทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ เขาก็จะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกมีค่าต่อตัวเองและต่อคนในครอบครัว เขาจะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่มีความเชื่อมั่นในตัวเขา แถมยังช่วยให้ลูกรู้ว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวอีกด้วย

          การที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกในวัยเตาะแตะมีอิสระ รู้จักตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในตัวคุณพ่อคุณแม่ มีความต้องการที่จะทดลองและสำรวจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อเขาได้สำรวจหรือทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง รู้จักคิด รู้จักทำ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งหากเด็กในวัยนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่และคุณครู รวมไปถึงการได้รับความรักและกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เขาเติบโตเป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือตนเองในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ...

ข้อมูลจาก : everydayfamily.com, momtastic.com, candokiddo.com
https://baby.kapook.com
เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/explore/baby-easter-outfit/

Sunday, October 1, 2017

8 วิธีเลี้ยงลูก สร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกน้อย




        วิธีสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูก ให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมเขาได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          ความมั่นใจในตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องรู้สึกกังวล หรือกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา ซึ่งความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงความภาคภูมิใจในตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีการสั่งสมมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเด็กที่มีความมั่นใจในตนเองจะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ในสังคมได้ มีความอดทนต่อความกดดัน ความเครียด และความขัดแย้งในชีวิตได้ดี รู้จักวิธีแก้ไขปัญหา เป็นคนมองโลกในแง่ดี ซึ่งต่างจากเด็กที่ขาดความมั่นใจ มักเป็นเด็กที่ขี้กลัว วิตกกังวล และเกิดความเครียดต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ง่าย

           คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงพยายามที่จะฝึกสอนให้ลูกของตนเองเติบโตเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และกล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย และสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งการที่เด็กจะเกิดความมั่นใจในตนเองได้นั้น เขาต้องรู้สึกว่าตัวเขาดีพอ และเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ เขาจึงเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเขาเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมและปลูกฝังลักษณะนิสัย รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจ และความภาคภูมิใจให้กับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดี สนับสนุนพฤติกรรมด้านบวก และสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจ โดยมีผู้ใหญ่คอยดูอยู่ห่าง ๆ

          และเพื่อเป็นแนวทางในการสอนลูกให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลับที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกน้อยได้ด้วย 8 วิธีต่อไปนี้ มาดูกันเลยค่ะ ว่าจะมีวิธีใดบ้าง

1. ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น

          การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น รวมถึงการสนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ ถือเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกได้อีกวิธีหนึ่ง โดยเริ่มจากให้เขาได้ตัดสินใจในกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น การเลือกเสื้อผ้า และกิจกรรมที่เขาอยากทำ เมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบก็จะช่วยให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาและการเจรจาต่อรองกับเพื่อนฝูง ทั้งยังช่วยให้เขารู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้เลือกทำอีกด้วย นอกจากนี้การถามความเห็นและการตัดสินใจจากลูกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะช่วยให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า ช่วยส่งเสริมความมั่นใจ และช่วยให้เขาได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา

2. เข้าใจความรู้สึกของลูก


          การรับรู้และเข้าใจในความรู้สึกของลูก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดก็ตาม เช่น เมื่อลูกดีใจที่ขี่จักรยานได้เป็นครั้งแรก หากคุณพ่อคุณแม่แสดงความชื่นชมยินดีไปกับลูกด้วยนั้น ลูกก็จะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้ค่ะ แต่หากลูกมีปัญหาอะไรในใจ ก็ควรพร้อมรับฟังและร่วมแบ่งปันความรู้สึกนั้น ๆ กับลูกด้วย เช่น บางครั้งที่ลูกร้องไห้งอแง กรีดร้องไม่ได้ดั่งใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ก่อนนะคะ อย่าเพิ่งดุว่าลูกแรง ๆ แต่ควรพูดคุยและถามไถ่กันด้วยเหตุผล ทำให้เขารู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกหงุดหงิดของเขานะ พร้อมกับสอนให้เขารู้จักรับมือและการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เขาเข้าใจตัวเอง และเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาค่ะ

3. แสดงความรักให้ลูกเห็นอยู่เสมอ

          ความรักคือสิ่งพื้นฐานที่ช่วยทำให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีความสุข ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในตนเองได้อย่างง่าย ๆ แค่มอบความรักให้แก่กันและกันค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาในแบบที่เขาเป็น รักโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในช่วงเวลาที่ดีหรือไม่ดี หรือ อาจทำเรื่องผิดพลาด พยายามทำให้ลูกรู้สึกว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้าง ๆ เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการ เป็นที่ยอมรับ และรู้สึกมีค่าสำหรับพ่อแม่ เกิดเป็นความรู้สึกดีต่อตัวเอง รู้สึกมั่นใจในตัวเอง และพอใจตัวเองในแบบที่เป็น

4. สอนลูกให้คิดบวก

          ความมั่นใจในตัวเองเริ่มต้นได้จากความคิด หากคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี คิดว่าเราต้องทำได้ ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยคุณพ่อคุณแม่พยายามส่งเสริมให้ลูกเชื่อในตัวเองพร้อมกับให้กำลังใจด้วยการแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของเขา ช่วยกระตุ้นความคิดในแง่บวกและสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่า "ลูกทำได้" หรือ "ลูกทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว" ซึ่งเป็นคำพูดที่ช่วยยืนยันว่าเขาทำได้ดี ทำให้เด็กรู้สึกอยากที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์หรือเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะจะทำให้ลูกหมดกำลังใจและเสียความเชื่อมั่นในตนเองได้ค่ะ

5. ให้ลูกหัดทำอะไรด้วยตัวเอง

          คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมให้เขาลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยสังเกตจากความชอบและความถนัดของลูก เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ยากเกินความสามารถในช่วงวัยของเขา ไม่ว่าจะเป็นการติดกระดุมเสื้อ การผูกเชือกรองเท้า หรือการทานข้าวเอง เมื่อเขาทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองได้อย่างง่าย ๆ ถึงแม้ว่าการฝึกหัดในช่วงแรก ๆ อาจใช้เวลามากหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมารับรองว่าคุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอนค่ะ

6. ให้ลูกช่วยทำงานบ้าน

          ความมั่นใจในตัวเองของลูก จะถูกกระตุ้นและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเขารู้ว่ามีคนให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา โดยคุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาทำ ซึ่งนับเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่เขาต้องทำให้ได้ ทั้งยังถือเป็นการพิสูจน์ความสามารถของตัวเด็กเอง ทำให้เขารู้สึกภูมิใจและอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เมื่อลูกทำสำเร็จก็ควรชื่นชมลูกตามเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าเขาเป็นคนดีมีคุณค่า รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และอยากทำดีอีกต่อไป แต่หากลูกทำงานพลาด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแนะนำให้เขารู้จักหาทางแก้ไขด้วยตัวเองดีกว่าการดุด่า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและเป็นการพัฒนาทักษะทางความคิดของลูกได้อย่างดีค่ะ

7. ให้ลูกเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง

          เมื่อลูกทำผิด หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับเขาด้วยเหตุผล และถามสาเหตุว่าทำไมจึงทำแบบนั้น พร้อมแนะนำให้เขารู้จักแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เขาได้รับบทเรียนจากการกระทำในครั้งนี้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูกด้วยถ้อยคำรุนแรงและบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจ ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าได้

8. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

          การเป็นตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนเสมอ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะสั่งสอนลูกมากมายขนาดไหน ก็ไม่เท่ากับการที่คุณปฏิบัติให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อลูกเห็นในสิ่งที่คุณทำ เขาก็จะเกิดการเลียนแบบและอยากทำตาม ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างและเป็นแนวทางที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกด้วยนะคะ

          คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าทุกคำพูด และทุกการกระทำในแต่ละวิธีเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองของลูกที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ล้วนแต่เป็นแนวทางการสร้างคุณค่าในตนเองของลูกทั้งนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตด้วยตัวเอง ให้เขาได้มีโอกาสลองผิด ลองถูก โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำ และให้กำลังใจอยู่เสมอ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถช่วยเหลือตัวเองในสังคมได้อย่างปกติสุขนั่นเองค่ะ

ข้อมูลจาก : momjunction.com, kidsplayandcreate.com, todaysparent.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/cute-baby-outfits/

Thursday, September 7, 2017

10 วิธีเลี้ยงลูกแบบคุณแม่ใจร้าย เพื่ออนาคตของเจ้าตัวเล็ก




         มาสวมบทบาทเป็นคุณแม่ใจร้าย ด้วย 10 วิธีเลี้ยงลูก เพื่อปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับเจ้าตัวเล็กกันเถอะค่ะ

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ โจทย์ที่ยากที่สุดในชีวิตก็คงจะหนีไม่พ้นการเลี้ยงลูกถูกไหมคะ เพราะพ่อแม่ทุกคนนั้นก็หวังจะให้ลูกเป็นเด็กดี เชื่อฟังคำสั่งสอน เพื่อที่ในอนาคตเขาจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า แต่ละครอบครัวก็มีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป ทว่าการเลี้ยงลูกที่ดีนั้นไม่ใช่แค่จะตามใจพวกเด็ก ๆ ไปเสียหมด ต้องหัดดุหรือใจร้ายกับพวกเขาเสียบ้าง เพื่อสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมได้นำ 10 วิธีเลี้ยงลูกแบบคุณแม่ใจร้ายมาฝากกันแล้วค่ะ ถึงแม้จะต้องเห็นหนู ๆ ร้องไห้งอแง คุณแม่ก็ต้องอดทนนะคะ เพื่อฝึกให้เด็ก ๆ ได้รู้จักความอดทน และมีระเบียบวินัย สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ค่ะ

1. ส่งเด็ก ๆ เข้านอนตรงเวลา

          การนอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยจะเจริญเติบโต เพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งในเวลากลางคืน คุณแม่ไม่ควรให้เด็ก ๆ เข้านอนดึก เพราะนอกจากร่างกายไม่ได้หลั่งโกรทฮอร์โมนอย่างเต็มที่ แต่ยังจะสร้างนิสัยนอนดึกจนเคยตัวและไม่อยากตื่นนอนในเวลาเช้า ลามไปถึงไม่อยากตื่นไปโรงเรียนด้วยล่ะค่ะ

2.  เด็ก ๆ ไม่ควรทานขนมหวานทุกวัน

          แน่นอนว่าเด็ก ๆ ชอบของหวาน แต่คุณแม่ควรจะให้พวกเขาทานเฉพาะตอนที่มีโอกาสพิเศษเท่านั้น เพราะนอกจากปัญหาเรื่องฟันผุแล้ว เด็ก ๆ อาจจะกินเยอะจนเคยตัว จนอาจเป็นโรคเบาหวานได้นะคะ

3. สอนให้หนู ๆ เก็บเงินซื้อของ

          เวลาไปห้างสรรพสินค้ากับเจ้าตัวน้อยแล้วเดินผ่านมุมของเล่น แน่นอนว่าเด็ก ๆ จะต้องงอแงอยากได้ตุ๊กตา รถบังคับ หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งคุณแม่จะต้องสวมบทคุณแม่ใจร้ายไว้ ห้ามใจอ่อนซื้อให้โดยเด็ดขาด โดยการบอกพวกเขาไปว่าถ้าอยากได้ก็ต้องเก็บเงินค่าขนมวันละเล็กวันละน้อย เพื่อให้พวกเขารู้คุณค่าของเงินนั่นเองค่ะ

4. หัดให้เจ้าตัวเล็กช่วยเหลือตนเอง

          เมื่อเด็ก ๆ เริ่มโตพอที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คุณแม่ควรให้เจ้าตัวเล็กช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน อย่างเช่น อาบน้ำ ทานข้าว หรือแปรงฟัน เพราะเป็นการฝึกความคิด การตัดสินใจ อีกทั้งเด็กยังจะรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อพวกเขาทำสำเร็จด้วยค่ะ

5. ลองให้หนูน้อยรู้สึกสูญเสียบ้าง

          หากเจ้าตัวเล็กทำของเล่นพัง คุณแม่ไม่ควรซื้อชิ้นใหม่มาแทนที่โดนทันทีนะคะ ให้หนูน้อยรู้สึกสูญเสียของสิ่งที่พังไปและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่อย่างนั้นเด็ก ๆ ก็จะไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งของต่าง ๆ เล่นทิ้งเล่นขว้าง และอาจกลายเป็นเด็กที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ค่ะ

6. ฝึกให้เด็ก ๆ พูด "ขอโทษครับ/ค่ะ" "ขอบคุณครับ/ค่ะ"

          เมื่อเด็ก ๆ ผิด สิ่งแรกที่ต้องทำนั่นก็คือการพูดขอโทษนั่นเอง รวมไปถึงเวลาได้ของจากผู้ใหญ่ ก็ควรให้เด็ก ๆ พูดขอบคุณด้วย เป็นมารยาทพื้นฐานในสังคม คุณแม่ควรฝึกหนู ๆ ให้พูดจนชินปากตั้งแต่ยังเล็ก รับรองเลยว่าลูกน้อยของคุณใครเห็นก็ต้องชมว่าน่ารักแน่ ๆ เลยล่ะค่ะ

7. อย่าให้ลูกติดสมาร์ทโฟน

          สังเกตไหมว่าเดี๋ยวนี้เด็ก ๆ วัยประถมก็มีสมาร์ทโฟนใช้กันแล้ว ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คุณแม่ควรจับตาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอันตรายจากโซเชียลมีเดียนั้นมีมากทีเดียว อีกทั้งหากจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟนมากเกินไปอาจทำให้จอประสาทตาของลูก ๆ เสียได้นะคะ

8. สอนให้ลูกคิดเป็นเหตุเป็นผล

          การสอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์จะช่วยส่งเสริมพัฒนาด้านไอคิวและอีคิว โดยการคิดเป็นเหตุเป็นผลนั้นอาจจะไม่ต้องถึงกับวิชาการมากนัก แค่เรื่องในชีวิตประจำวันคุณแม่ก็สามารถตั้งคำถามให้ลูกน้อยกลับไปคิดเองได้ เช่น เจ้าตัวเล็กอยากได้ของเล่นแพง ๆ คุณแม่ก็ควรถามว่าทำไมถึงต้องซื้อของแพง หรือถามว่าทำไมต้องได้ของเล่นชิ้นใหม่ ในเมื่อชิ้นเก่าก็ยังเล่นได้อยู่

9. ต้องเด็ดเดี่ยว ไม่ใจอ่อน

          ถึงแม้ว่าจะพยายามใจร้ายกับลูก แต่เชื่อว่าคนเป็นแม่ยังไงก็ต้องแอบใจอ่อนอยู่ดี ซึ่งคุณแม่ก็มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวไว้นะคะ ไม่ว่าลูกจะอ้อนขออะไรก็ควรเสียงแข็งไว้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเด็ก ๆ จะเข้าใจได้ว่าแค่อ้อนคุณแม่ก็ใจอ่อนแล้ว

10. ตั้งเงื่อนไขกับเจ้าตัวน้อย

          บางทีการห้ามนู่นห้ามนี่กับเด็ก ๆ อาจทำให้พวกเขาเก็บกดและไม่กล้าที่จะแสดงออก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นคุณแม่ใจร้ายมากเกินไปจนส่งผลเสียกับลูก ดังนั้นเวลาเจ้าตัวน้อยอยากได้หรืออยากทำอะไรคุณแม่ควรตั้งเงื่อนไข เพื่อฝึกวินัยให้พวกเขา เช่น ก่อนจะดูทีวีต้องดื่มนมให้หมดก่อน เป็นต้น

          ทั้งนี้การเลี้ยงลูกไม่ว่าจะสวมบทบาทเป็นคุณแม่ใจดีหรือใจร้าย ก็ควรให้ความรักความอบอุ่นและสร้างความปลอดภัยให้กับตัวลูก ๆ อีกทั้งการสอนลูกที่ดีที่สุดคือพฤติกรรมตัวอย่างจากพ่อแม่นี่แหละค่ะ เพราะเด็ก ๆ จะเรียนรู้โดยอัตโนมัติ เป็นการสอนที่ได้ผลดีที่สุดเลยล่ะค่ะ

ข้อมูลจาก : familyshare.com, imom.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/cute-babies/

Friday, August 25, 2017

ฝึกลูกกินผัก ด้วย 5 เทคนิคสอนลูกให้ชอบกินผักได้ง่ายขึ้น




         เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกเจ้าตัวน้อยให้ชอบทานผักได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้...

          ผัก เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว เพราะนอกจากจะให้สารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนทั้งวิตามินและแร่ธาตุ ที่มีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ยังมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคได้อีกด้วย แต่ทว่าหลาย ๆ ครอบครัวก็ประสบปัญหาลูก ๆ ไม่ชอบกินผัก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและระบบขับถ่ายของลูก ๆ ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกลุ้มใจว่าจะทำอย่างไรดีให้เจ้าตัวน้อยยอมทานผัก ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเทคนิคฝึกลูกกินผักแบบง่าย ๆ มาฝากกันแล้ว มาดูกันเลยค่ะว่ามีวิธีใดบ้าง

1. ฝึกให้ลูกทานซุปผัก

          ในเด็กทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะเป็นช่วงวัยที่เริ่มทานอาหารอ่อน ๆ นอกเหนือจากนมแม่ได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณแม่สามารถฝึกให้ลูกทานผักได้ตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ เพราะหากเด็กได้ลองทานผักเป็นอาหารแรกเริ่มนอกจากนมแม่แล้ว เด็กก็จะไม่รู้สึกว่าผักมีรสประหลาด หรือมีกลิ่นเหม็น แต่กลับรู้สึกเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลินกับการกินผัก ซึ่งผักที่เหมาะนำมาทำซุปผักให้ลูก ต้องเป็นผักที่มีรสหวาน มีสีสัน เช่น แดง ส้ม ชมพู เหลือง และเขียว มีเสี้ยนผักน้อย และไม่มีกลิ่นฉุน เช่น บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท แตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ใบตำลึง เป็นต้น

2. ปรุงอาหารให้ถูกใจลูกน้อย

          รสชาติก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกน้อยชอบทานผักได้ โดยทำเป็นรสอาหารที่ลูกชื่นชอบ รวมไปถึงทำเมนูอาหารให้ดูแปลกตาและหลากหลาย เช่น ซอยผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับอาหาร เช่น ผัดใส่ข้าว ใส่ไข่เจียว ผสมกับหมูบดทอด เอาผักชุบแป้งทอดจิ้มกับซอสมะเขือเทศ ก็จะช่วยให้ลูกทานผักได้ง่ายขึ้น หากลูกคุ้นชินกับการทานผักแล้ว คุณแม่ก็ลองเปลี่ยนเมนูเป็นผักสด ผักต้ม หรือผักบด แล้วแต่ความต้องการ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงเรื่องคุณค่าโภชนาการที่มีในผักนั้น ๆ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รับสารอาหารบางอย่างในผักชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินความจำเป็นค่ะ

3. ตกแต่งจานผักให้น่าทาน

          นอกจากรสชาติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยรู้สึกอยากทานผักมากขึ้น นั่นก็คือ การตกแต่งจานอาหารนั่นเองค่ะ เด็ก ๆ หลายคนคงรู้สึกไม่ค่อยชอบใจเท่าไรนัก ถ้าในจานอาหารของเขามีแต่ผักเขียว ๆ เต็มไปหมด ทางที่ดีคุณแม่ควรจัดเมนูผักให้มีหลากสีสัน น่ารับประทาน โดยคุณแม่อาจหั่นผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดลูกเต๋า หรือตกแต่งผักในจานให้เป็นรูปการ์ตูนหรือสัตว์น่ารัก ๆ ให้เขารู้สึกเพลิดเพลินและเกิดความสนใจในการทานผักได้ นอกจากนี้จานชาม ช้อนส้อมลายน่ารัก ๆ ก็ช่วยให้ลูกทานผักและทานอาหารได้ดีเช่นกันค่ะ

4. เปลี่ยนการบังคับเป็นการชวน

          การบังคับให้ลูกกินผัก นอกจากลูกจะไม่ยอมกินผักแล้ว อาจเกิดการต่อต้าน ฝังใจ และไม่ชอบทานผักไปในที่สุด ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนจากการบังคับมาเป็นการชักชวน หรือการเล่น ถึงในครั้งแรกลูกจะทานผักได้น้อย แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้วค่ะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณพ่อแม่ก็ควรทานผักให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง พร้อมบอกประโยชน์ของผักและชักชวนให้เด็ก ๆ กินผักด้วยกัน เขาก็จะค่อย ๆ ซึมซับว่าผักมีประโยชน์อย่างไร พร้อมเปิดใจที่จะกินผักตามได้ไม่ยาก และรู้สึกสนใจที่จะกินผักนั้น ๆ ตามคุณพ่อคุณแม่

5. ฝึกให้ลูกมีส่วนช่วยทำกับข้าว

          หากคุณพ่อคุณแม่กำลังจะเข้าครัวทำเมนูผักให้ลูกน้อยได้ทานละก็ ลองชวนลูกมาทำกับข้าวด้วยกันดูสิคะ โดยอาจให้เขาช่วยล้างผัก หรือสอนเขาหั่นผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการใส่ผักลงหม้อหรือกระทะเอง เมื่อถึงเวลาทานข้าว ลูกก็จะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนทำอาหาร และเกิดอยากชิมฝีมือที่ตัวเองทำ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจและให้คำชื่นชมเขาอยู่เสมอ เช่น ลูกเก่งมากที่ช่วยทำอาหาร แล้วให้ลองชิมเมนูผักที่เป็นฝีมือของลูกด้วยกัน ก็จะช่วยให้เด็กอยากลองกินผักในอาหารที่เขาได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำนั่นเองค่ะ

          การฝึกให้ลูกชอบกินผักอาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่ความจริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิดเลยนะคะ แค่ลองทำตามเทคนิค 5 ข้อ ที่เรานำมาฝากในวันนี้ดู ดีไม่ดีจากเด็กน้อยที่ไม่ชอบทานผัก อาจกลายเป็นเด็กที่ชอบทานผักมาก ๆ เลยก็เป็นได้ค่ะ รู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่มาเริ่มฝึกลูกน้อยกินผักตั้งแต่วันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของเขากันนะคะ ^_^

ข้อมูลจาก : aol.com, parents.com, wikihow.com