Monday, October 30, 2017

5 วิธีเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะ 1-3 ปี




วิธีเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ของเด็กวัยเตาะแตะ 1-3 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ จะได้เตรียมพร้อมรับมือและช่วยกันเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยให้เติบโตมีพัฒนาการสมวัย จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ...

          เด็กในช่วงวัยเตาะแตะ (Toddler) ที่มีอายุ 1-3 ขวบ หรือช่วงวัยก่อนเรียน เป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มมีพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ เด็กจะเริ่มเดินได้ พูดได้ และเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เด็กสามารถไปไหนมาไหนได้เองมากขึ้น ทำให้มีอิสระ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น เลือกที่จะกินหรือไม่กินอะไร เริ่มหยิบหรือตักอาหารกินเอง ไม่ยอมให้ป้อน รวมไปถึงการเลือกเสื้อผ้า และของเล่นเอง นอกจากนี้เด็กวัยเตาะแตะจะชอบสำรวจศึกษาสิ่งรอบตัว มีความอยากรู้อยากเห็น อยากลองไปหมดเสียทุกอย่าง ช่างสงสัย ช่างซักช่างถาม ช่างสังเกตและจดจำ ชอบคิดชอบจินตนาการ หรือพูดง่าย ๆ เลยก็คือเป็นวัยที่กำลังซนนั่นเองค่ะ ซึ่งพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนปวดหัวและเกิดความกังวล ไม่รู้ว่าจะรับมือยังไงดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีทางแก้ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และส่งเสริมให้ลูกน้อยได้มีโอกาสใช้ความสามารถทางพัฒนาการของเขาตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยควบคุมไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะจะเป็นการฝึกลูกน้อยให้มีความมั่นใจและมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

          และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเสริมสร้างและพัฒนาความเป็นตัวตนของลูกน้อย วันนี้กระปุกดอทคอมก็มี 5 เคล็ดลับที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเองในเด็กวัยเตาะแตะ 1-3 ขวบ มาฝากกันแล้ว จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาติดตามกันเลยค่ะ

1. ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการสำรวจ

          เด็กในช่วงวัย 1-3 ขวบ เป็นวัยที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระในการเคลื่อนไหว อยากรู้อยากลองว่าตนเองสามารถทำอะไรได้แค่ไหน ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ยิ่งห้ามยิ่งอยากทำ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า และทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง ให้เขามีอิสระในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ใกล้ ๆ พร้อมสอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ด้วยวิธีบอกกล่าวหรือห้ามอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้กฎกติกาและทักษะทางสังคมไปด้วยค่ะ ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงอิสระในการใช้ชีวิตตัวเองได้มากขึ้น ได้ฝึกความกล้าหาญ สติปัญญา และความมั่นใจที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ เป็นการฝึกฝนให้เขาได้ลองใช้ความกล้าหาญของตัวเองอย่างเต็มที่

2. ให้เขาทดลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง

          เนื่องจากเด็ก ๆ วัยนี้เป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น อยากลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อท้าทายความสามารถของตัวเอง เช่น การเลือกทานข้าว หยิบจับอาหารเอง เลือกเสื้อผ้าที่ใส่ เลือกของเล่น รวมไปถึงการเลือกกิจกรรมว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งหากเจ้าตัวน้อยเรียกร้องอยากลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเองแล้ว ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เสี่ยงอันตรายมากจนเกินไป เช่น การทานอาหารเอง อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจให้ลูกลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ คอยให้กำลังใจ และคอยช่วยเหลือเฉพาะเมื่อลูกขอร้อง เมื่อเขาทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ นอกจากตัวเขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ในชีวิตเขาได้มากอีกด้วย

3. ให้พื้นที่อิสระในการเรียนรู้

          อย่างที่บอกว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังซน เมื่อเขาเริ่มเดินเริ่มวิ่งได้ ก็จะชอบสำรวจสิ่งของและพื้นที่ในบริเวณต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีพื้นที่ให้เขาได้วิ่งเล่น โดยอาจมีมุมส่วนตัวของลูกที่มีของเล่นเสริมพัฒนาการ เช่น ตัวต่อเลโก้ บ้านตุ๊กตา ห้องครัวจำลอง เป็นต้น ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ตรวจสอบความแข็งแรงของโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องเรือน เสียบที่อุดปลั๊กไฟ เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือของอันตรายให้พ้นมือเด็ก รวมไปถึงกั้นเขตพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น บันได หรือระเบียงบ้าน เป็นต้น

4. ฝึกให้ลูกรู้จักตัดสินใจ

          เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยฝึกให้เขารู้จักตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยกำหนดตัวเลือกมาให้แบบง่าย ๆ สัก 2-3 อย่าง เช่น ขนม เสื้อผ้า ของเล่น โดยที่คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของเขา วิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ทำให้เป็นคนกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ทั้งยังทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ

5. หากิจกรรมให้ลูกทำ

          เด็กวัยนี้ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และชอบที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตตามผู้ใหญ่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจให้เขาช่วยงานแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำได้ง่ายตามวัย แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะไม่เรียบร้อยสมบูรณ์เท่าไรนัก แต่ก็เป็นการฝึกให้เขาได้ใช้ความพยายามและความอดทน เช่น เก็บของเล่น เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้ว ช่วยทิ้งขยะ เช็ดโต๊ะ ล้างผัก ล้างผลไม้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อลูกทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ เขาก็จะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกมีค่าต่อตัวเองและต่อคนในครอบครัว เขาจะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่มีความเชื่อมั่นในตัวเขา แถมยังช่วยให้ลูกรู้ว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวอีกด้วย

          การที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกในวัยเตาะแตะมีอิสระ รู้จักตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในตัวคุณพ่อคุณแม่ มีความต้องการที่จะทดลองและสำรวจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อเขาได้สำรวจหรือทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง รู้จักคิด รู้จักทำ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งหากเด็กในวัยนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่และคุณครู รวมไปถึงการได้รับความรักและกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เขาเติบโตเป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือตนเองในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ...

ข้อมูลจาก : everydayfamily.com, momtastic.com, candokiddo.com
https://baby.kapook.com
เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/explore/baby-easter-outfit/

Sunday, October 1, 2017

8 วิธีเลี้ยงลูก สร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกน้อย




        วิธีสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูก ให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมเขาได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          ความมั่นใจในตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องรู้สึกกังวล หรือกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา ซึ่งความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงความภาคภูมิใจในตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีการสั่งสมมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเด็กที่มีความมั่นใจในตนเองจะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ในสังคมได้ มีความอดทนต่อความกดดัน ความเครียด และความขัดแย้งในชีวิตได้ดี รู้จักวิธีแก้ไขปัญหา เป็นคนมองโลกในแง่ดี ซึ่งต่างจากเด็กที่ขาดความมั่นใจ มักเป็นเด็กที่ขี้กลัว วิตกกังวล และเกิดความเครียดต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ง่าย

           คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงพยายามที่จะฝึกสอนให้ลูกของตนเองเติบโตเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และกล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย และสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งการที่เด็กจะเกิดความมั่นใจในตนเองได้นั้น เขาต้องรู้สึกว่าตัวเขาดีพอ และเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ เขาจึงเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเขาเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมและปลูกฝังลักษณะนิสัย รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจ และความภาคภูมิใจให้กับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดี สนับสนุนพฤติกรรมด้านบวก และสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจ โดยมีผู้ใหญ่คอยดูอยู่ห่าง ๆ

          และเพื่อเป็นแนวทางในการสอนลูกให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเคล็ดลับที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกน้อยได้ด้วย 8 วิธีต่อไปนี้ มาดูกันเลยค่ะ ว่าจะมีวิธีใดบ้าง

1. ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น

          การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น รวมถึงการสนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ ถือเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกได้อีกวิธีหนึ่ง โดยเริ่มจากให้เขาได้ตัดสินใจในกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น การเลือกเสื้อผ้า และกิจกรรมที่เขาอยากทำ เมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบก็จะช่วยให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาและการเจรจาต่อรองกับเพื่อนฝูง ทั้งยังช่วยให้เขารู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้เลือกทำอีกด้วย นอกจากนี้การถามความเห็นและการตัดสินใจจากลูกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะช่วยให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า ช่วยส่งเสริมความมั่นใจ และช่วยให้เขาได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา

2. เข้าใจความรู้สึกของลูก


          การรับรู้และเข้าใจในความรู้สึกของลูก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดก็ตาม เช่น เมื่อลูกดีใจที่ขี่จักรยานได้เป็นครั้งแรก หากคุณพ่อคุณแม่แสดงความชื่นชมยินดีไปกับลูกด้วยนั้น ลูกก็จะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้ค่ะ แต่หากลูกมีปัญหาอะไรในใจ ก็ควรพร้อมรับฟังและร่วมแบ่งปันความรู้สึกนั้น ๆ กับลูกด้วย เช่น บางครั้งที่ลูกร้องไห้งอแง กรีดร้องไม่ได้ดั่งใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ก่อนนะคะ อย่าเพิ่งดุว่าลูกแรง ๆ แต่ควรพูดคุยและถามไถ่กันด้วยเหตุผล ทำให้เขารู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกหงุดหงิดของเขานะ พร้อมกับสอนให้เขารู้จักรับมือและการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เขาเข้าใจตัวเอง และเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาค่ะ

3. แสดงความรักให้ลูกเห็นอยู่เสมอ

          ความรักคือสิ่งพื้นฐานที่ช่วยทำให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีความสุข ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในตนเองได้อย่างง่าย ๆ แค่มอบความรักให้แก่กันและกันค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาในแบบที่เขาเป็น รักโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในช่วงเวลาที่ดีหรือไม่ดี หรือ อาจทำเรื่องผิดพลาด พยายามทำให้ลูกรู้สึกว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้าง ๆ เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการ เป็นที่ยอมรับ และรู้สึกมีค่าสำหรับพ่อแม่ เกิดเป็นความรู้สึกดีต่อตัวเอง รู้สึกมั่นใจในตัวเอง และพอใจตัวเองในแบบที่เป็น

4. สอนลูกให้คิดบวก

          ความมั่นใจในตัวเองเริ่มต้นได้จากความคิด หากคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี คิดว่าเราต้องทำได้ ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยคุณพ่อคุณแม่พยายามส่งเสริมให้ลูกเชื่อในตัวเองพร้อมกับให้กำลังใจด้วยการแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของเขา ช่วยกระตุ้นความคิดในแง่บวกและสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่า "ลูกทำได้" หรือ "ลูกทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว" ซึ่งเป็นคำพูดที่ช่วยยืนยันว่าเขาทำได้ดี ทำให้เด็กรู้สึกอยากที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์หรือเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะจะทำให้ลูกหมดกำลังใจและเสียความเชื่อมั่นในตนเองได้ค่ะ

5. ให้ลูกหัดทำอะไรด้วยตัวเอง

          คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมให้เขาลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยสังเกตจากความชอบและความถนัดของลูก เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ยากเกินความสามารถในช่วงวัยของเขา ไม่ว่าจะเป็นการติดกระดุมเสื้อ การผูกเชือกรองเท้า หรือการทานข้าวเอง เมื่อเขาทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองได้อย่างง่าย ๆ ถึงแม้ว่าการฝึกหัดในช่วงแรก ๆ อาจใช้เวลามากหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมารับรองว่าคุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอนค่ะ

6. ให้ลูกช่วยทำงานบ้าน

          ความมั่นใจในตัวเองของลูก จะถูกกระตุ้นและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเขารู้ว่ามีคนให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา โดยคุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาทำ ซึ่งนับเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่เขาต้องทำให้ได้ ทั้งยังถือเป็นการพิสูจน์ความสามารถของตัวเด็กเอง ทำให้เขารู้สึกภูมิใจและอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เมื่อลูกทำสำเร็จก็ควรชื่นชมลูกตามเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าเขาเป็นคนดีมีคุณค่า รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และอยากทำดีอีกต่อไป แต่หากลูกทำงานพลาด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแนะนำให้เขารู้จักหาทางแก้ไขด้วยตัวเองดีกว่าการดุด่า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและเป็นการพัฒนาทักษะทางความคิดของลูกได้อย่างดีค่ะ

7. ให้ลูกเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง

          เมื่อลูกทำผิด หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับเขาด้วยเหตุผล และถามสาเหตุว่าทำไมจึงทำแบบนั้น พร้อมแนะนำให้เขารู้จักแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เขาได้รับบทเรียนจากการกระทำในครั้งนี้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูกด้วยถ้อยคำรุนแรงและบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจ ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าได้

8. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

          การเป็นตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนเสมอ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะสั่งสอนลูกมากมายขนาดไหน ก็ไม่เท่ากับการที่คุณปฏิบัติให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อลูกเห็นในสิ่งที่คุณทำ เขาก็จะเกิดการเลียนแบบและอยากทำตาม ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างและเป็นแนวทางที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกด้วยนะคะ

          คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าทุกคำพูด และทุกการกระทำในแต่ละวิธีเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองของลูกที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ล้วนแต่เป็นแนวทางการสร้างคุณค่าในตนเองของลูกทั้งนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตด้วยตัวเอง ให้เขาได้มีโอกาสลองผิด ลองถูก โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำ และให้กำลังใจอยู่เสมอ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถช่วยเหลือตัวเองในสังคมได้อย่างปกติสุขนั่นเองค่ะ

ข้อมูลจาก : momjunction.com, kidsplayandcreate.com, todaysparent.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/cute-baby-outfits/